เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก น้ำตกแก่งโสภา

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก น้ำตกแก่งโสภา 😀


ออกจากที่พักริมน้ำ ลำน้ำเข็ก เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง  เลี้ยวขวาเข้าถนนทางหลวงหมายเลข ๑๒(ถนนพิษณุโลก - หล่มสัก) ไปประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ก็จะถึงช่วงประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๗๑-๗๒  เลี้ยวขวาเข้าไป  น้ำตกแก่งโสภา เป็นน้ำตกที่อยู่ในเขตพื้นที่การดูแลของ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.2  เขตอุทยานแห่งชาติ ทุ่งแสลงหลวง  ซึ่งมีค่าธรรมเนียมในการเข้าชม  โดยสำหรับชาวไทยคนละ ๒๐ บาท ชาวต่างชาติคนละ ๒๐๐ บาท เด็กไม่เสียค่าธรรมเนียม สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ในเวลา แปตโมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น (๘:๐๐ - ๑๗:๐๐ น.)  

น้ำตกแก่งโสภา
หลังจากชำระค่าเนียม ณ ทางเข้าแล้ว ก็ขับเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็จะถึงที่จอดรถของทางอุทยานฯ  เดินจากที่จอดรถเป็นทางลาดลง แบบเนิน ประมาณ ๕๐๐ เมตร ก็จะถึงน้ำตกแก่งโสภา

น้ำตกแก่งโสภา มองจากด้านชั้นบน  (ปริมาณน้ำสะสมก่อนตก)

บริเวณชั้นบน น้ำตกแก่งโสภา
น้ำตกแก่งโสภา เป็นน้ำตกหินทราย แบบแก่งหิน แบ่งเป็นระดับได้ ๓ ชั้น  ความสูงของน้ำตก ๔๐ เมตร  ถ้าเทียบกับระดับน้ำทะเล จะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ๔๐๐ เมตร    ชั้นบนของน้ำตกเป็นหิน แบบเรียบ  และลดหลั่นลงมา

บริเวณที่นักท่องเที่ยว นิยมมาถ่ายรูป
เหมาะสำหรับการนั่่งพักผ่อนหย่อนใจ ชื่นชม ธรรมชาติ   ได้รับการชื่นชมให้เปรียบเหมือนเป็น น้ำตกไนแอการาเมืองไทย  (ไนแอการาเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดากับสหรัฐอเมริกา)  เนื่องจากลักษณะการไหลของน้ำ มองแล้วคล้ายคลึงกัน (แต่ของไทย ขนาดเล็กกว่ามาก)

ลักษณะการไหลของน้ำตก




พิกัด GPS น้ำตกแก่งโสภา  :   16.870699, 100.833822

แผนที่ น้ำตกแก่งโสภา  :


นั่งชื่นชมธรรมชาติ พักใหญ่ ก็ออกเดินทางไป วัดผาซ่อนแก้ว และพักที่ เพชรบูรณ์ ในคืนนั้น

ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักใน จังหวัดพิษณุโลก  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก ที่พักริมน้ำ ลำน้ำเข็ก เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก ที่พักริมน้ำ ลำน้ำเข็ก เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง  😀

จากเส้นทางการเดินทางไหว้พระ  เมืองน่าน  ลัดเลาะลงเรื่อยมา ที่พิษณุโลก ไปสักการะ องค์พระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  และ พระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว ที่ วัดนางพญา แล้ว  ก็ค้นหาที่พัก  ด้วยความตั้งใจก็จะเป็นแนวที่พักริมน้ำ  ค้นหาสักพักและดูตามแผนที่แล้ว สถานที่ที่น่าจะติดแม่น้ำ  ก็เป็น เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง (Natural Park Resort de Wang Thong)

ในจังหวัดพิษณุโลก มีแม่น้ำใหญ่ คือ แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม ไหลผ่าน รวมถึงมีแม่น้ำย่อย ๓ สาย และ คลอง ๘ คลอง  แหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมไป หนึ่งในนั้น คือ ลำน้ำเข็ก  ซึ่งมีกิจกรรมล่องแก่งพิชิตลำน้ำเข็ก  ช่วงเวลาที่นิยมท่องเที่ยวจะเป็น ช่วงเดือน มิถุนายน - ตุลาคมของทุกปี (ฤดูฝน)  ระยะทางการล่องแก่ง จะอยู่ที่ประมาณ ๘-๑๐ กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับบริษัทท่องเที่ยวที่ใช้บริการ  สำหรับระยะเวลาที่ใช้ประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง

ลำน้ำเข็กเป็นที่นิยมในการท่องเที่ยวล่องแก่งเนื่องจากเป็นลำน้ำที่มีความคดเคี้ยว และมีแก่งมากถึง ๑๓ แก่ง คือ แก่งท่าข้าม, แก่งไทร, แก่งเวฟยาว, แก่งมรดกป่า, แก่งปากยาง, แก่งหินลาด, แก่งสบยาง, แก่งรัชมังคลาฯ, แก่งซาง*, แก่งโสภาราม*, แก่งดงสัก, แก่งนางคอย* และ แก่งยาว  มีสามแก่งที่มีความยากระดับ ๔-๕  (จัดระดับความยากอยู่ที่ ๕ มากที่สุด)

เข้ามาที่แผนกต้อนรับของทางโรงแรม
ออกเดินทางจาก  วัดนางพญา  มาที่ เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง (Natural Park Resort de Wang Thong) ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ใช้เวลาไปประมาณ ๔๕ นาที   ตั้งอยู่ภายในพื้นที่กึ่งป่า ดูร่มรื่น  มาถึงก็ติดต่อขอเข้าพัก โดยจะพบห้องรับรอง(แผนกต้อนรับ) ทำการเช็คอินที่นี่ แล้วก็จะได้กุญแจห้องเพื่อไปยังห้องพัก

ลักษณะห้องพัก วิวแม่น้ำ
สำหรับห้องพักที่นี่ มี ๓ ประเภท เป็นห้องแบบวิวสวน, แบบวิวแม่น้ำ และ ห้องพักขนาดใหญ่ ๔ ท่าน วิวสวน ให้เลือก  ซึ่งแน่นอนที่ว่าผมเลือกวิวแม่น้ำ เป็นหลักอยู่แล้ว 😁

ถนนหน้าห้องพัก วิวแม่น้ำ (ด้านขวามือเป็นแนวลำน้ำ)
โดยห้องพักแบบวิวแม่น้ำ  ก็จะเป็นลักษณะออกมานั่งเล่น นอกห้องเพื่อมองแม่น้ำได้  มีถนนผ่านหน้าห้อง และถัดมาจะเป็นแนวลำน้ำ ช่วงเดือนกรกฎาคม เข้าสู่ฤดูฝน น้ำไหลผ่านเสียงดังและแรงตลอดเวลา  หากใครชอบแนวนี้ ก็ควรมาช่วงฤดูฝน

ระดับน้ำในลำน้ำเข็ก เดือนกรกฎาคม
ห้องพักแบบวิวสวน รูปแบบห้องจะเป็นห้องหกเหลี่ยม จะจัดเป็นหลังๆ อยู่เป็นกลุ่มๆ ใกล้กับ ร้านอาหาร เดินมารับประทานสะดวกในยามเช้า กลางว้ัน และค่ำ  มาถึงเข้าพัก เรียบร้อยก็มาที่ร้านอาหารของทางโรงแรม เมื่ออิ่มท้องก็เข้านอน อากาศช่วงฤดูหนาว ถือว่าเย็นดี ครับ

ห้องพักวิวสวน

ภายในห้องพักวิวสวน
 เข้าสู่วันใหม่ในตอนเช้า รีบตื่นขึ้นมาเพื่อมาดูพระอาทิตย์ขึ้น  ออกมาสัมผัสอากาศเย็นยามเช้า กับโดยมีเสื้อกันหนาวอีกตัว  อุณหภูมิน่าจะประมาณ ๑๐ กว่าองศาได้  แต่ประเมินไม่ได้ว่าเท่าไรกันแน่  เพราะไม่มีอุปกรณ์วัด ใช้ความรู้สึกล้วนๆ 😀 เดินมาที่ลำน้ำเข็ก  ระดับน้ำในช่วงฤดูหนาว  จะต่ำกว่าหน้าฝนเยอะมาก สามารถเดินลงไปในแนวหิน ของลำน้ำได้ ครับ   แต่ก็ไม่แน่ใจว่ากลางแม่น้ำ จะลึกลงไปอีกมากไหม  สอบถามทางโรงแรมแล้ว ก็ทราบว่า บางจุดของกลางแม่น้ำ ก็น่าจะลึกลงไปอีก  แต่ถ้าจะเล่นน้ำ ก็เล่นใกล้ๆ ฝั่งได้

ระดับน้ำในลำน้ำเข็ก ฤดูหนาว ต่ำจนเห็นก้อนหินของก้นแม่น้ำ 
 มองไปที่ลำน้ำเห็นเป็นหมอกขึ้นมาตลอดเวลา เป็นความสวยงามของธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง หากแดดออกมาก ก็จะหายไป  นั่งอยู่ครู่ใหญ่ จึงเก็บบรรยากาศไว้ในวีดีโอ มาให้ชมกัน ครับ  แต่สู่การไปสัมผัสจริงๆ  ด้วยตัวเองไม่ได้

ไอหมอก รุ่งเช้า  เหนือลำน้ำ

ระดับน้ำในฤดูหนาวที่ต่ำจนเหลือโคนไม้
สัมผัสความเย็น สดชื่น ยามเช้า และธรรมชาติที่ร่มรื่น จนเต็มปอด อีกทั้งอาหารเช้าแบบอิ่มท้องอีกมื้อ  ก็พร้อมที่จะเดินทางไปยัง น้ำตกแก่งโสภา


พิกัด GPS เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง  :     16.833358, 100.545658

แผนที่ เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง

ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจสามารถดูรายละเอียดของ เนเชอรัลปาร์ค รีสอร์ท เดอ วังทอง (Natural Park Resort de Wang Thong)   สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก วัดนางพญา

เที่ยวไหนดี? ...  พิษณุโลก วัดนางพญา 😀


หลังจากสักการะ พระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร แล้วก็เดินทางมายังวัดข้างเคียง ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง ๑๐๐ เมตร เดินข้ามถนนจ่าการบุญ  มาเข้าสู่วัด นางพญา

ทางเข้าอุโบสถ
วัดนางพญาตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก เช่นเดียวกับพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร และตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระศรีฯ   เชื่อกันว่า วัดนางพญา สร้างขึ้น ในรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ โดย พระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา  ครั้งยังดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช  ราวปี พ.ศ. ๒๐๗๐-๒๑๐๐ 

โดยสร้างเพียงวิหารที่แบบก่ออิฐถือปูน แบบทรงโรง ศิลปะสุโขทัย  ต่อมาวิหารมีการทรุดโทรมลง จึงมีการบูรณะครั้งใหม่ ทำเป็นพระอุโบสถ ในยุครัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙)  

ประตูอุโบสถ
สิ่งที่ผู้คนมักกล่าวถึงเกี่ยวกับวัดนางพญา คือ พระพิมพ์นางพญา  (พระเครื่องหนึ่งในชุดเบญจภาคี)  เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผา พบครั้งแรก ในปีพ.ศ. ๒๔๔๔  โดยเจดีย์พระประธานของวัดนางพญามีการชำรุดหัก  และในคราวนั้น มีการเตรียมสร้างศาลาเพื่อรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  เมื่อขุดดินก็ได้พบพระนางพญา จึงน้อมเกล้าฯ ทูลถวายรัชกาลที่ ๕ และให้ข้าราชบริพาร  หลังจากนั้น ก็มีการพบในช่วงเกิดสงคราม โดย พระภิกษุ สามเณร ช่วยกันขุดหลุมหลบภัย ทำให้ประชาชนมาขอขุดกันมากขึ้น ทำให้ต้นไม้ภายในวัดล้มตายเป็นอันมาก จนทางวัดต้องไม่ให้มีการขุด

พระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว (พระประธานในอุโบสถ)
สำหรับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ พระพิมพ์นางพญาที่อยู่ในบริเวณนั้น คาดว่า น่าจะเป็นการนำอิฐ,ปูน,ดิน จากเจดีย์ที่แตกหัก มาทำถมคลองด้านข้างของวัด ในสมัยก่อน

ตำนานการสร้างพระพิมพ์นางพญา นั้น เล่ากันว่า สร้างขึ้นเพื่อถวายให้พระวิสุทธิกษัตริย์ และ แจกทหารไปรบกับข้าศึก  ครั้งเสร็จการรบก็นำมาเก็บไว้ที่วัดนางพญา  จึงใช้ชื่อเรียกว่า "พระพิมพ์นางพญา"
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ
ลักษณะของพระพิมพ์นางพญา เป็นพระเครื่องรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว  ภายในมีองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อของพระพิมพ์เป็นเนื้อดินเผา คล้ายกับเครื่องถ้วยชามเนื้อดินเผา (ทำจากดินแล้วนำมาเผาด้วยไฟอุณหภูมิสูง เพื่อไม่ให้แตกหักง่าย)  มีหลากหลายสี ตามแต่เนื้อดินที่อยู่ในองค์พระพิมพ์ นั้น เช่น มีสีแดงคล้ำ, สีเขียวตะไคร่แกมดำ, สีดำ, น้ำตาลแก่,  บางองค์สีเทา, บางองค์มีสีขาวอมชมพู เป็นต้น


จิตรกรรมภายนอกพระอุโบสถ

 เมื่อสักการะพระสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว (พระประธานในอุโบสถ) แล้วก็ถึงเวลาต้องไปหาที่พักภายใน จังหวัดพิษณุโลก  โดยตั้งใจว่าเป็น ที่พักริมแม่น้ำ ในจังหวัดพิษณุโลก   น่าจะเป็นลำน้ำเข็ก ซึ่งมองแล้วว่าไม่ไกลมากจนเกินไป จากวัดแห่งนี้เท่าไร นัก

พิกัด GPS วัดนางพญา  :   16.822581, 100.261966

แผนที่ วัดนางพญา  :


ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักใน จังหวัดพิษณุโลก  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

เที่ยวไหนดี? ... พิษณุโลก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  😀

ออกจาก เมืองน่าน  ขับรถลงมาเรื่อยๆ เพื่อไปยัง เพชรบูรณ์ เขาค้อ ต่อ  แวะพัก สักการะพระคู่บ้านคู่เมือง พิษณูโลก ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  และ วัดนางพญา    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ด้านทิศตะวันออก    หากมาตอนเช้าๆ ที่แดดยังไม่แรง ก็สามารถมานั่งพักที่ริมน้ำได้  ซึ่งมีการสร้างเป็นลักษณะขั้นบันได ลงไปแม่น้ำ

ช่วงสายๆ มาถึง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "วัดใหญ่" เป็นวัดเก่าแก่ ที่สันนิษฐานว่า สร้างก่อนกรุงสุโขทัย (หลักฐานจากหลักศิลาจารึก)  หรือ สร้างในรัชสมัยของ พระมหาธรรมราชาลิไท (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก - จากพงศาวดารเหนือ) ในยุคสมัยอาณาจักรสุโขทัย


พระพุทธชินราช

สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ได้มีโปรดให้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ ในราว พ.ศ. ๑๙๐๐ ตำนานที่เล่าขานต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการสร้างพระพุทธชินราช คือ ในการสร้างครั้งนั้นใช้ช่างหล่อพระซึ่งเป็นพราหมณ์ ๕ นาย คือ บาอินท์, บาพรหม, บาพิษณู, บาราชสังข์ และบาราชกุศล  โดยเป็นช่างสวรรคโลก, ช่างเชียงแสน, ช่างหริกุญไชย กับช่างกรุงศรีสัชนาลัย  เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคลฤกษ์ จึงทำพิธีเททองหล่อทั้ง ๓ องค์  คือ พระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์, พระศรีศาสดา  เมื่อถึงเวลาแกะพิมพ์ออก พบว่า องค์พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา  เป็นองค์พระสมบูรณ์สวยงาม  สำหรับองค์พระพุทธชินราชพบว่า ทองสำริดไม่เต็มองค์ จึงทำการหล่อใหม่ ครบ ๓ ครั้ง ก็ยังเป็นแบบเดิม   ครั้น พญาลิไท ทราบก็ตั้งสัตยาธิษฐาน ให้การหล่อองค์พระนี้สำเร็จ ต่อมา มีตาปะขาว ท่านหนึ่ง มาช่วยการหล่อพระ เมื่อถึงคราวแกะพิมพ์ออก ก็พบว่า องค์พระพุทธชินราชสมบูรณ์ ทองสำริดแล่นเสมอทั่วทั้งองค์  เหล่าช่างได้ตามหา ตาปะขาว ผู้นั้น ก็ไม่พบแต่ประการใด  จึงเชื่อกันว่า ตาปะขาวผู้นั้น เป็นพระอินทร์แปลงกายลงมา

หลังจากการหล่อพระ ครบทั้ง ๓ องค์ พบว่า ยังคงมีทองสำริด เหลืออยู่ จึงมีพระราชดำริให้หล่อ "พระเหลือ"  และหลังจากนั้น ก็ยังมีทองสำริดเหลืออีก จึงหล่อพระสาวก อีก ๒ องค์

พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช  ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด และนิยมนำไปสร้างองค์จำลองกันมากที่สุด

จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารพระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก  "หลวงพ่อใหญ่" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย สร้างจากทองสำริด (ทองแดงผสมกับธาตุอื่นๆ) หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก แต่เดิมมิได้มีการลงรักปิดทอง มีการลงรักปิดทองครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองพิษณุโลกและพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช ในปี พ.ศ. ๒๑๔๖ และมีพระบรมราชานุญาต ให้มีการนำเครื่องราชชูปโภคมาตีแผ่เป็นทองคำเปลวสำหรับปิดทองพระพุทธชินราช

จิตรกรรมฝาผนัง

ครั้นเวลาล่วงเลย มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มีการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

ครั้งที่ ๓  ในปีพ.ศ. ๒๕๔๗  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙)

สำหรับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช ทำจากไม้แกะสลัก  สันนิษฐานว่ามาทำภายหลังในยุคกรุงศรีอยุธยา  แกะเป็นรูปมกร (ลำตัวเหมือนมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ปลายซุ้ม และมีตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม เบื้องซ้ายและขวาของซุ้มเรือนแก้วมีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน คือ ท้าวเวสสุวรรณ และ อารวกยักษ์  และมีพระโมคคัลานะและพระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวก

ด้านบนวิหารพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราช ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ ในวันที่  ๒๗ กันยายน พ.ศ.  ๒๔๗๙


พระพุทธชินสีห์  

พระพุทธชินสีห์

ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธชินสีห์ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระปรางค์ (อยู่ด้านหลังทางซ้ายมือของวิหารพระพุทธชินราช) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองสำริด เป็นองค์จำลองที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๔   สำหรับองค์จริงนั้น  ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. ๒๓๗๒  โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ  ในปี พุทธศักราช ๒๓๘๐  พระพุทธชินสีห์องค์จริง ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานหน้าพระพุทธสุวรรณเขต ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

พระพุทธชินสีห์


พระศรีศาสดา

ผลจากสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๘  ครั้นแม่ทัพพม่าอะแซหวุ่นกี้พร้อมไพร่พล ยกมาตีเมืองพิษณุโลก ได้เผาทำลายพระราชวังจันทน์กับพระวิหารประธานด้านตะวันออกที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส  ภายหลังจากนั้น ก็มิได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ใดๆ  เวลาล่วงเลย เข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ครานั้น  เจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี  เห็นว่าวิหารที่ประดิษฐานพระศรีศาสดานั้น ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก และไม่มีผู้ใดดูแล จึงอัญเชิญพระศรีศาสดา มาที่วัด  หลังจากนั้น ได้ถูกอัญเชิญจากวัดบางอ้อยช้างมาไว้ที่วัดประดู่ฉิมพลี, วัดสุทัศน์ และมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗  องค์ที่อยู่ที่วัดเป็นองค์จำลอง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)

พระศรีศาสดา

พระปรางค์
พระปรางค์ และองค์พระอัฏฐารส
องค์พระปรางค์ตั้งอยู่กลางวัด เป็นพระปรางค์ประธาน  สันนิษฐานว่า แรกเริ่มเดิมสร้างเป็นพระสถูปเจดีย์ในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถม  ครั้นต่อมา ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) ได้สร้างครอบโดยทำตามคตินิยมในยุคสมัยนั้นที่ว่าให้พระปรางค์เป็นหลักเป็นประธานของวัด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สันนิษฐานว่า เป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม

พระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อเดินขึ้นไปบนยอดพระปรางค์ (ไม่เหนือยจนเกินไป 😊)

เวลาล่วงเลย เข้าสู่ยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก ได้มีพระบรมราชานุญาตให้บูรณะพระปรางค์โดยดัดแปลงพระเจดีย์ ให้เป็นรูปแบบพระปรางค์แบบขอม ตามพระราชนิยมในสมัยนั้น

ที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ
รอบองค์พระปรางค์มีระเบียงคตอยู่ ๔ ทิศ ภายในระเบียงคต มีพระพุทธรูปประดิษฐานเรียงรายอยู่

เขตระเบียงคต  มีพระพุทธรูปประดิษฐานโดยรอบ

พระเหลือ


เมื่อ หล่อพระทั้ง ๓ องค์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา  มีทองสำริด เหลืออยู่ปริมาณหนึ่ง   พระยาลิไททรงรับสั่งให้ช่างนำเศษทองเหล่านั้นมาหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง ๑ ศอกเศษ  เรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระเหลือ"

หลังจากหล่อพระเหลือ แล้วยังคงมีทองสำริด อีกปริมาณหนึ่งจึงได้หล่อพระสาวกยืน ๒ องค์  ครั้นต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานตั้งชื่อให้ ว่า  "พระเสสันตปฎิมากร" แต่ชาวบ้านยังคงนิยมเรียกว่า พระเหลือ เช่นเดิม


หลวงพ่อดำ

ประดิษฐาน ด้านหน้าวิหารพระศรีศาสดา เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีอายุประมาณ ๑๐๐-๒๐๐  ปี  สาเหตุที่เรียกองค์หลวงพ่อ ว่า หลวงพ่อดำ  เนื่องจาก มีผู้มีจิตศรัทธา สร้างพระพุทธรูปองค์นี้แล้วเสร็จได้ทำการลงรักสีดำ เป็นที่เรียบร้อย แต่ไม่มีการปิดทอง   ชาวบ้าน จึงเรียกท่านว่า "หลวงพ่อดำ"

หลวงพ่อดำ


พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน

ภายในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือ วิหารหลวงพ่อสามพี่น้อง  เป็นวิหารขนาดกลางตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระพุทธชินราชนอกเขตระเบียงคต ภายในมีโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างจากคติความเชื่อในคราวที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน  โดยการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่จิตกาธาน

ด้านปลาย หีบพระบรมศพ

ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม ที่ปลายหีบพระบรมศพ มีพระบาททั้งสองยื่นออกมา  และบริเวณด้านหน้าและด้านท้ายของหีบพระบรมศพ มีพระมหากัสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ


พระอัฏฐารส
พระอัฏฐารส
เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ยืนสูง ๑๘ ศอก อยู่บริเวณเนินพระวิหารเก้าห้อง  ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระปรางค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  คำว่า "พระอัฏฐารส" มีความหมายว่า “พระสูง ๑๘ ศอก”  นั่นคือมีพระวรกายสูงถึง ๑๘ ศอก บางแหล่งสันฺษฐานว่าการสร้างพระพุทธรูปสูงใหญ่ขนาดนี้ น่าจะมาจากการจินตนาการจากรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ที่พบ ว่า หากมีรอยพระพุทธบาทขนาดนี้ แล้วองค์พระวรกายของพระพุทธองค์จะประมาณเท่าใด  และอีกประการหนึ่งที่สันนิษฐานคือ อาจจะสร้างองค์พระให้ตรงกับข้อความที่มีการระบุไว้ใน คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี ว่า "พระพุทธเจ้ามีพระวรกายสูง ๑๘ ศอก"  สำหรับ พระอัฏฐารส  หากสืบค้นไป ก็พบว่ามีการสร้างกันมาก่อนที่เกาะลังกา โดยนิยมสร้างพระสูง ๑๘ ศอก ครั้น กรุงสุโขทัยมีพระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรือง ก็มีการสร้างพระพุทธรูปตามคติความเชื่อนี้ 

หลังองค์พระอัฏฐารส
พระอัฏฐารส องค์เดิม มีการชำรุดทรุดโทรม ตามกาลเวลา และผลจากการศึกสงคราม จึงมีการบูรณะใหม่มาเป็นองค์พระอัฏฐารส ที่เห็นในปัจจุบัน

เมื่อสักการะพระพุทธรูปและสิ่งต่างๆ  พร้อมกับเดินชม รอบๆ บริเวณวัด จนครบถ้วนแล้ว ก็เดินทางข้ามถนนจ่าการบุญ (ถนนอยู่ด้านข้าง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) ไปยังวัดนางพญา ครับ

พิกัด GPS วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  :     16.823818, 100.262265

แผนที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร



ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักใน จังหวัดพิษณุโลก  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี?... อยุธยา ที่พักริมน้ำ อโยธารา วิลเลจ

เที่ยวไหนดี?...  อยุธยา ที่พักริมน้ำ อโยธารา วิลเลจ บรรยากาศธรรมชาติ 😀


ใกล้สุดสัปดาห์ อีกครั้ง  โครงการการพักผ่อนก็เริ่มขึ้น จากการค้นหาสถานที่พักผ่อน เพื่อชาร์จแบตให้กับตัวเอง  ตั้งใจว่าจะให้เป็นสถานที่ใกล้กรุงเทพฯ สักหน่อย  อยากได้ที่พักใกล้ๆ น้ำ  มองหลายจังหวัด รอบๆ กรุงเทพฯ มาลองดูที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีที่พักหลายแห่ง ที่ติดริมน้ำ แต่ถ้าเป็นราคาไม่แพง  ส่วนใหญ่จะเป็นห้องพัก ที่ต้องใช้ห้องน้ำรวม

พิจารณามา...  ก็หยุดอยู่ที่ อโยธารา วิลเลจ  ข้อมูลทางสถานที่ ที่ให้ไว้ ระบุว่าเป็นห้องพักแบบวิวสวน  แต่ในรูปสถานที่พัก ก็มีแม่น้ำผ่าน พอดู google map ก็ชัด ว่าแม่น้ำผ่านแน่ๆ  (^_^)

ริมน้ำ ในอโยธารา วิลเลจ

เอาละ ครับ  ก็ตัดสินใจไปดูเลยครับ  ที่อโยธารา วิลเลจ พอถึงก็รู้ว่า บ้านพักภายใน เป็นบ้านไม้ทรงไทยหมด ครับ มีห้องน้ำในตัว  ในส่วนของห้องน้ำจะเป็นห้องปูน 


บ้านพักในแนวด้านใน (แนวแรก)

ลักษณะการสร้าง เป็นเหมือนหมู่บ้าน จัดเรียงตัวบ้านในลักษณะตัว U  แนวแรก จะเป็นห้องพักยกสูงปกติ (บ้านเรือนไทยต้องยกพื้นสูงจากพื้นดิน) คือเดินขึ้นไป บันได ๓ ขั้น  ขั้นที่ ๔  เป็นพื้นชาน
เกือบทุกห้องสามารถเห็นแม่น้ำได้ แต่ต้องมองผ่านสวน  

บ้านพัก ในแนวหลัง ยกสูง มีใต้ถุน
สำหรับแนวข้างหลัง จะเป็นบ้านยกสูง มีใต้ถุนโปร่ง โล่ง  ด้านล่าง  สามารถมานั่งเล่นได้  ทำให้แนวบ้านด้านหลังสามารถเห็นแม่น้ำได้ เหมือนกัน

หลังจากดูอยู่สักพัก ก็เลือกห้องได้  ทำการเช็คอิน เข้าที่พัก  ภายในห้องมีภาพของโบราณสถาน และ มีการร่างต่อเติมว่า ของเดิม ก่อนผุพังน่าจะเป็นอย่างไร  ซึ่งนับว่าของเดิมๆ สวยงามมากครับ  ภายในห้องพักแต่ละห้องจะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว   ห้องทุกห้องมีชานเรือน สามารถนำอาหารหรือขนมมานั่งรับประทานและชมธรรมชาติ ไปในตัวได้ด้วย

บ้านพัก แบบเตียงคู่
ห้องพักแบบเตียงเดี่ยว

เวลาบ่ายคล้อย เคลื่อนสู่ยามเย็น เป็นเวลาอาหารมื้อค่ำ   ออกจากที่พัก ลัดเลาะไปเรื่อยๆ  ตั้งใจจะหาในแนว ถนนคนเดิน  ผลปรากฎว่า หาไม่ได้  กลายเป็นแนวตลาดกลางคืน  มาจบการเดินทางสำหรับอาหารมื้อเย็นที่ ตลาดคนเดินหน้าองค์การโทรศัพท์

ชานเรือน

ชานเรือน มองไปทางแม่น้ำ
ตลาดที่นี่ มีความยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร อยู่ตรงข้ามองค์การโทรศัพท์ เป็นร้านรวงในสไตล์ อาหาร เครื่องดื่ม ขนม มีตั้งแต่ข้าวแกง จนถึงอาหารทะเล  สำหรับเครื่องดื่ม ก็มีน้ำผลไม้ปั่น เฉาก๊วยโบราณ เฉาก๊วยนมสด และอื่นๆ มีเพียงแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่เห็น, ผลไม้ตามฤดูกาลหลากหลาย  หลังจากอิ่มท้องที่ตลาดนี้แล้วก็ ซื้อผลไม้ติดมือ กลับไป

ศาลาริมน้ำ ไว้สำหรับนั่งเล่น
เข้าที่พัก ประมาณ ๒ ทุ่ม บรรยากาศเงียบดี ได้ยินเสียงจั๊กจั่น แมลงตามธรรมชาติ เพลินหูดี  หลังคาของบ้านทรงไทย จะสูงกว่าห้องปกติ ก็รู้สึกดี กับแนวนี้ ครับ  นอนหลับไปแล้วตื่นเช้าในเวลา ตีห้าครึ่ง  ที่นี่ มีพระพายเรือมาบิณฑาตทุกวัน  ชาวบ้านริมแม่น้ำที่นี่ ยังใส่บาตร อยู่  พระจึงมีกิจบิณฑบาต ทุกเช้า   

ชุดตักบาตร

เมื่อเวลานัดมาถึง หกโมงสิบห้านาที  หลายๆ ห้อง ก็มารอที่โป๊ะ ท่าน้ำ  หลังจากที่พระท่านแวะไปหลายๆ บ้านแล้ว ขากลับก็มาที่โป๊ะของทางอโยธารา วิลเลจ

บิณฑบาตทางน้ำ

เทียบโป๊ะ

ทำบุญตักบาตร และชุดสังฆทาน จากนั้น พระสงฆ์ให้ศีลให้พร ก็แยกย้าย กันเข้าห้องพัก บริเวณริมน้ำ ก็มีศาลา ไว้ให้นั่งเล่น สองแห่ง ถ้าเป็นยามเช้าอย่างนี้  นั่งได้ สักพักใหญ่ เลยครับ...  พอแสงตะวันเริ่มจ้า  ความร้อนก็เริ่มตามมาช้าๆ  กลับเข้าห้องพักน่าจะดีกว่า  (^_^) 

วิวริมน้ำ เมื่อมองไปอีกฝั่ง
ตรงกลางของแบบบ้านตัว U  เป็นศาลาหลังคาสูงโปร่ง ให้นั่งเล่นได้  เช้าๆ แบบนี้ อากาศเย็น มีกลิ่นอายของน้ำค้าง ยังอยู่บ้าง  เดินวนไปมา สักสองรอบ ก็เข้าห้องพัก

ศาลากลางตัว U สำหรับนั่งเล่น พักผ่อน
ถึงแม้จะเป็นบ้านพักที่บอกว่าเป็นวิวสวน  แต่ตัวผมเองให้เป็นวิวแม่น้ำได้เลยครับ  ถึงแม้จะไม่ได้ติดแม่น้ำแบบเดินออกจากห้องเอาขาแช่น้ำได้เลย หรือแบบยื่นไปในแม่น้ำ  ก็จัดได้ว่าเป็นวิวแม่น้ำ ที่มองออกมาจากห้องได้เห็นบรรยากาศริมน้ำได้ดี สบายตา สบายใจ ตลอดการพักผ่อนสุดสัปดาห์ ครับ
พิกัด

ห้องประชุม / จัดเลี้ยง


พิกัด GPS  อโยธารา วิลเลจ  :   14.391357, 100.565603

แผนที่ อโยธารา วิลเลจ  :



สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯ  จากรังสิต ผ่านมา ๒๐ กิโลเมตร จะเป็นทางต่างระดับบางปะอิน ให้ชิดซ้าย เพื่อมุ่งหน้าไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒ ขับไป ๒๗ กิโลเมตร  ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำป่าสัก ชิดซ้าย พอลงสะพานเลี้ยวซ้ายทันที ไป ๑๖๐ เมตร แล้วเลี้ยวขวา ไปตามเส้นทาง ๕.๓ กิโลเมตร  ทางเข้าอโยธารา วิลเลจ อยู่ทางซ้ายมือ

สำหรับ ท่านที่ชอบที่พักริมน้ำเจ้าพระยา ในแบบใกล้ชิดริมน้ำ ก็สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ ครับ


ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจรายละเอียดที่พัก อโยธารา วิลเลจ  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ