เที่ยวไหนดี? ... วัดป่าละหานทราย จ.บุรีรัมย์

😀เที่ยวไหนดี? ... วัดป่าละหานทราย จ.บุรีรัมย์  😀

หลังจากได้ทำบุญ ๙ วัด  ที่ จ.อุบลราชธานี  แล้ว วันรุ่งขึ้น ซึ่งจะต้องเดินทางกลับ  ผมก็แวะพัก ที่จ.บุรีรัมย์ หนึ่งคืน   วัดหนึ่งที่ผมอยากแนะนำ คือ วัดป่าละหานทราย  ต.ละหานทราย อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์  ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 4013  ซึ่งแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ผมอยากไปเที่ยว คือ วัดนี้ ได้ขึ้นเป็น วัด ที่ unseen ในเวปนึง 


พิกัด GPS  :  14.421492, 102.868006

แผนที่


การเดินทาง 



  • ใช้เส้นทาง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24  (สายทางต่างระดับสีคิ้ว–อุบลราชธานี หรือ ถนนเดชอุดม) จากนั้นเลี้ยวเข้า สู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2117 (ถนนตะโก - เขาพนมรุ้ง) แล้วต่อเนื่องไปในทางหลวงชนบท หมายเลข บร. 4013 (แยกทางหลวงหมายเลข 2117-บ้านละหานทราย) วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ



  • จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24  (สายทางต่างระดับสีคิ้ว–อุบลราชธานี หรือ ถนนเดชอุดม) เลี้ยวเข้า สู่ถนนสังขกฤษ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนประชาสันติสุข ต่อเนื่องไปยังถนนนางรอง-ละหานทราย แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 224 (สายนครราชสีมา–หินโคน) ไปอีก 1.2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท หมายเลข บร. 4013 (แยกทางหลวงหมายเลข 2117-บ้านละหานทราย) วัดจะอยู่ทางขวามือ



  • จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24  (สายทางต่างระดับสีคิ้ว–อุบลราชธานี หรือ ถนนเดชอุดม) เลี้ยวเข้า สู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2445 (บุรีรัมย์ - นิคมบ้านกรวด)  850 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ หมายเลข 4071 ไป 9.8 กม. เจอโรงเรียนบ้านจระเข้มาก ถึงทางแยกเลี้ยวซ้าย ไป 110 เมตร แล้วเลี้ยวซ้าย ไป 11.7 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท หมายเลข บร. 4013 (แยกทางหลวงหมายเลข 2117-บ้านละหานทราย) ไป 11 กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ

ประวัติวัดป่าละหานทราย



วัดป่าละหานทรายก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒  มีอดีตพระครูปริยัติยากร (พิพัฒน์ อินทวีโร ป.ธ.๓) เป็นเจ้าอาวาสและรองเจ้าคณะอำเภอละหานทราย วัดป่าละหานทราย ได้รับประกาศตั้งวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๖ เดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒   พ.ศ. ๒๕๔๔  พระมหาเรืองฤทธิ์ สุธีโร ได้เป็นประธานสงฆ์สืบต่อมา เมื่อวัดได้รับอนุญาตตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๒๖ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓ 

วัดป่าละหานทราย สร้างบนพื้นที่  ๘๐ ไร่ และได้ปลูกป่าสร้างความสงบร่มเย็น เพื่อใช้เป็นสถานปฎิบัติธรรม ภายในวัดยังมี ถาวรวัตถุที่สร้างด้วยฝีมือช่างอันงดงามวิจิตร 

เมื่อถึงวัด ความรู้สึกแรก คือ บรรยากาศจะค่อนข้างเงียบ  ผมก็จอดรถทางด้านหน้าของวัด ซึ่งเป็นศาลาไม้เก่าๆ  ลงเดินไป ภายในศาลาไม้ นั้น มีการสอนพระธรรม ให้กับพระภิกษุอยู่ ผมเดินต่อไปเรื่อยๆ จึงเห็นศาลาทางด้านขวามือ คือ มหาวิหารไม้ 


สถานที่สำคัญในวัดป่าละหานทราย


มหาวิหารไม้
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมล้านช้าง ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 30 เมตร เป็นไม้ทั้งหลัง เป็นงานไม้แบบโบราณที่ใช้การเจาะและสลัก หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด ไม้สักทั้งหลัง  สร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๒ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๒  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหยกขาวซึ่งได้รับการถวายนามจากพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ว่า "พระพุทธมงคล มหาชนอภิปูชนีย์"






วิหารพุทธร่มโพธิ์
เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหยกเขียว

อุโบสถกลางน้ำ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมล้านช้าง สร้างขึ้นในโอกาสฉลองพุทธชยันตี ๒.๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕    พระประธานสร้างด้วยหยกพม่าชนิดโปร่งแสง





พิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ 
เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อและภาพถ่ายหลวงปู่สุข ธมฺมโชโต พระเกจิอาจารย์ที่เลื่องลือแห่งอำเภอละหานทราย และหลวงปู่กัสสปมุนี บูรพาจารย์ด้านกรรมฐานของวัดป่าละหานทราย  ซึ่งท่านเป็นสัทธิกวิหาริกของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ)


ขอบคุณค่ะ  😄

สำหรับผู้ที่สนใจหาที่พัก ใน จังหวัดบุรีรัมย์ สามารถ กดลิงค์ ที่นี่ ได้  หรือ กดลิงค์นี่ ค่ะ

เที่ยวไหนดี? ... ไหว้พระ วัดโบสถ์ อ. สามโคก จ.ปทุมธานี

เที่ยวไหนดี? ... ไหว้พระ วัดโบสถ์ อ. สามโคก จ.ปทุมธานี 😀 


การเดินทาง    วัดโบสถ์ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๔ โดยชาวมอญที่อพยพมาจาก เมืองหงสาวดี เดิมเป็นวัดเก่าโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา   เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือหลวงพ่อเหลือ ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ของเมืองปทุมธานี

เนื่องจากวัดโบสถ์ มีหลายที่ แม้แต่ในจังหวัดปทุมธานีก็ยังมี วัดโบสถ์ ที่อำเภอเมือง สำหรับท่านที่จะมาวัดโบสถ์ อ.สามโคก ควรตรวจสอบเส้นทางและสถานที่ตั้งให้ดี เพื่อป้องกันความสับสนในการมาท่องเที่ยววัดแห่งนี้ 


การเดินทางไปวัดโบสถ์ สามโคก


  • หากขับรถมาจากบางบัวทองตามเส้นทางวงแหวนสายตะวันตก เลยทางแยกที่จะไปอำเภอเสนา ก็จะถึงสะพานข้ามแม่น้ำ เจ้าพระยาไม่ต้องข้ามสะพานเลี้ยวซ้ายลงตรงตีนสะพาน ซึ่งจะมีป้ายบอกทางไปวัดหลวงพ่อโตอยู่ข้างทาง ขับลอดใต้สะพานวิ่งไป ตามถนนอีกไม่ถึง 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดอยู่ทางซ้ายมือ
  •  หากมาทางจังหวัดปทุมธานีให้ขับรถไปตามเส้นทางอำเภอสามโคก ขับเลยตัวอำเภอไป ผ่านวัดจันทน์กะพ้อไปเล็กน้อยก็จะเห็นป้ายทางเข้าวัดที่ปากซอย ทางขวามือ ไปตามถนนอีกประมาณ 4-5 กิโลเมตร กลับรถที่ใต้สะพานข้ามถนนวงแหวนตะวันตก แล้วย้อนกลับมา จะเห็นป้ายทางเข้าวัด ทางด้านซ้ายมือ
  • หากขับมาจากถนนพหลโยธิน เลี้ยวเข้าถนนวงแหวนตะวันตก ที่จะมุ่งหน้าไปทางบางบัวทอง พอข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเห็นองค์หลวงพ่อตั้งอยู่ พอลงจากสะพานก็ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนชลประทาน อีก 1-2กม. ก็ถึงทางเข้าวัดซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ
  • หากขับรถมาจากทางด่วน สายบางปะอิน-ปากเกร็ด (อุดรรัถยา)  วิ่งจนถึงด่านบางปะอิน แล้วให้แยกซ้ายออกมาทางสามโคก (ป้ายทางออก บางไทร) เพื่อเข้าเส้นกาญจนา ภิเษก (สาย 9) พอข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเห็นองค์หลวงพ่อตั้งอยู่ พอลงจากสะพานก็ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนชลประทาน อีก 1-2กม. ก็ถึงทางเข้าวัดซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ


พิกัด GPS :  สำหรับท่านที่เดินทางโดยสะดวกใช้ GPS นำทาง พิกัด 14.11463,100.540385

แผนที่




เวลาทำการ  :  ๐๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.


ถานที่สำคัญในวัดโบสถ์

๑. หลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่
๒. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่
๓. หลวงปู่ทวด
๔. พระสีวลี
๕. ท้าวจตุคามรามเทพ, พระพิฆเนศ
๖. พระเหลือ, หลวงพ่อเงิน, หลวงพ่อสด
๗. พิพิทธภัณฑ์วัดโบสถ์
๘. ศาลาประดิษฐาน พระพุทธรูปปางประจำวันเกิด
๙. แพให้อาหารปลา


หลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่

ประวัติหลวงพ่อโสธรนั้น ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด ทราบตามที่เล่าต่อๆ กันมาแต่เพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย มีพระภิกษุสามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉานแล้วก็จำแลงกายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำลงมาตามลำแม่น้ำ  เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก  

จวบจนองค์หนึ่งได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัด  องค์ที่สองได้ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า วัดหงษ์ เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง แล้วต่อมาก็เกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็นวัดโสธร ประชาชนพลเมืองจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้คนหนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวเมือง จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในพระวิหารวัดโสธร และเรียกนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา

ส่วนองค์สุดท้ายได้ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธนาขึ้นฝั่งฉุดขึ้นแต่ก็ไม่สำเร็จ  จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ

หลวงพ่อโสธร องค์จำลอง มีขนาด ฐานกว้าง ๒๔ เมตร หน้าตักกว้าง ๑๖ เมตร สูง ๓๗ เมตร   องค์จริง ประดิษฐานอยุ่ที่ วัดโสธรวรรามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา  


หลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่

ภายในวิหารหลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อโสธรองค์เล็กในวิหาร

การขอพรหลวงพ่อโสธร  ส่วนใหญ่ขอพรให้สมหวังได้ในทุกเรื่อง แต่มีเพียงเรื่องเดียวที่ เมื่อขอหลวงพ่อโสธรแล้ว ท่านมักจะไม่ให้ คือ การขอพรจากหลวงพ่อโสธร ให้ไม่ติดทหารเกณฑ์   เล่ากันว่า เมื่อใดขอข้อนี้แล้ว รับรองติดทหารชัวร์ ...

วิหารหลวงพ่อโสธร และ หลวงพ่อโสธรองค์ใหญ่

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พฺรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตราม ท่านเป็นสามเณรที่เทศน์ได้เพราะ  ครั้นอายุครบอุปสมบท รัชกาลที่๑  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบท เป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สามเณรโตมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยยิ่งนัก พอบวช เป็นภิกษุใหม่ คนทั่วไปก็พากันเรียกท่านว่า "มหาโต"  ทั้งๆ ที่ท่านยังมิได้เป็นเปรียญ   สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่ปรารถนายศศักดิ์ คงเป็นพระมหาโตมาตลอด หรือบางคนก็เรียกว่า "ขรัวโต"  สมเด็จรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมที่พระธรรมกิติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕ ต่อมาเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่พระเทพกระวี และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗  สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ก็มรณภาพ เมื่อวันเสาร์ที่  ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ อายุ ๘๕ ปี  อยู่ในสมณะเพศ ๖๕ พรรษา

รูปปั้นเหมือน องค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เทศนาธรรมองค์นี้เป็นองค์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความสูงถึง 28 เมตร ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวนิยมไปกราบไหว้กันเป็นจำนวนมาก

สมเด็จโต

หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมเด็จโต 

ระฆังในวิหารหลวงพ่อโต


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  วันที่มีเมฆฝน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)  วันที่แดดออก

ช่วงเย็น

ช่วงยามค่ำ

พระพุทธคุณที่เชื่อถือ ต่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  คือผู้ใดได้กราบไหว้บูชา ปิดทองขอพรได้สมปรารถนา การทำงานเจริญก้าวหน้า ได้เป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคน ครอบครัวมั่นคง


ศาลาพระสีวลี

พระสีวลีเถระ เป็นพระมหาเถระที่มีประวัติค่อนข้างพิศดารกว่าพระมหาเถระองค์อื่นๆ  ท่านต้องอยู่ในครรภ์ พระมารดาถึง ๗ ปี กับอีก ๗ วัน พระมารดาคือพระนางสุปปะวาสนา ผู้เป็นราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กุศลธรรมในอดีตที่ท่านเกิดเป็นพระราชโอรสของเจ้ากาสี  ผู้ครองกรุงพาราณสี  ต่อมาถูกกองทัพพระเจ้าโกศล กรีฑาทัพมายึดกรุงและปลงพระชนม์พระเจ้ากาสี  ต่อมาพระโอรสได้รวบรวมกำลังผู้คนเป็นกองทัพเข้าปิดล้อมประตูใหญ่ ๔ ด้านไว้ ๗ ปี ผู้คนในกรุงยากลำบาก อดน้ำ อดอาหาร จึงพร้อมกันจับพระราชา(พระเจ้าโกศล)ตัดเศียร มามอบแก่พระกุมาร พระกุมารจึงได้เสวยราชสมบัติ จึงเป็นผลกรรมให้พระสีวลีเถระต้องหลงอยู่ในครรภ์นานนับปี  ในอดีตชาติ ท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ครองนครหงสาวดี พระองค์ทรงปรารถนาในพระพุทธศาสนา อยู่ในตำแหน่งเอตทัค ค่ะ   ผู้มีลาภ ทรงนิมนต์พระชินสีห์ พร้อมทั้งพระสีวลีถวายอภิวาทพระศาสดาและรับจัดเลี้ยงพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้ถวายท่านทุกๆ ๗ วัน ในสถานที่ต่างๆ กัน เช่น  ใต้ต้นไทร บนภูเขา ริมฝั่งแม่น้ำ ในป่า จรสำเร็จ อันเป็นภาระยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ ด้วยกุศลธรรมในอดีตและปัจจุบัน ที่ท่านได้ถวายพระมหาทานแล้ว ทั้งปรารถนาในสมัยแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระให้เป็นพระภิกษุผู้เป็นเลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลายพระศาสนา


พระสีวลี

พระพุทธคุณของพระสีวลี ผู้ใดได้กราบไหว้ปิดทองบูชา ขอพรจะได้สมปรารถนาในเรื่องลาภยศ สรรเสริญสมหวังดังตั้งใจทุกประการ


ศาลาพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี หรือสมเด็จพะโค เป็นพระภิกษุสงฆ์ในสมัยอยุธยาแผ่นดินพระมหาธรรมราชา พ.ศ. ๒๑๓๑ ตามประวัติกล่าวว่า มีนามเดิมว่า ปู  เป็นบุตรนายหู นางจันทร์ อายุได้ ๗ ขวบ ได้เล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฏีหลวง (วัดดีหลวง) มีความเฉลียวฉลาด อ่านเขียนหนังสือไทย หนังสือขอมได้อย่างรวดเร็ว อายุได้ ๑๐ ขวบได้บวชเป็นสามเณร ไปศีกษาต่อกับพระชินเสนที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) เมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยหัสสี ต่อมาได้ อุปสมบทมีฉายาว่า "ราโมธมมิโก"  แต่คนทั่วไปเรียกว่า "เจ้าสามีราโม"  เมื่อศึกษาพระธรรมนำปฎิบัติจนเจนจบแล้ว ในเมืองนคร ท่านก็ตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาปริยัติปฎิบัติธรรมต่อยังเมืองหลวงกรุงศรีอยุธยา  โดยขอโดยสารเรือสำเภาของพ่อค้าวานิช ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร กล่าวโทษว่าเหตุเกิดเพราะพระเจ้าสามีราโมจึงนิมนต์ให้ลงเรือเล็กนำไปปล่อยเกาะ  ขณะท่านนั่งอยู่ในเรือได้ห้อยเท้าซ้ายแช่ลงในทะเล เกิดอัศจรรย์น้ำทะเลเป็นประกายแวววาวโชติช่วง ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้ใช้ดื่มจนเพียงพอ นายสำเภาเห็นอัศจรรย์จึงนิมนต์ให้ขึ้นสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยาต่อไป  


หลวงปู่ทวด 

พระพุทธคุณของหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด  ผู้ใดได้กราบไหว้บูชาปิดทอง ก็จะคลาดแคล้วจากอุบัติภัยนานนัปการและบันดาลโชคลาภเป็นอยางยิ่ง


ศาลาท้าวจตุคามรามเทพ, พระพิฆเนศ

ตำนานท้าวจตุคามรามเทพ
ประวัติหลักฐานจากลังกา ชาวพุทธถือว่าเกาะลังกา มีเทวดาอารักษ์ผู้ใหญ่ปกป้องคุ้มครองอยู่ ๔ องค์ ตรงกับตำนานในไทยเมื่อ ๕๐๐ ปีที่แล้ว  เทวดาอารักษ์ทั้ง ๔ ของลังกามีดังนี้ 
๑. ขัตตุคารามเทพ ทรงสรรพาวุธมี ๖ หน้า ชาวสิงหลเรียกท่านว่า ขัตตุคาม (Kataragma) และมีศาลใหญ่ของท่านอยู่ในบ้านป่า
๒. รามเทพ หมายถึง พระนารายณ์ (วิษณุ) ปางรามาวตารถือคันธนูและลูกศร มีศาลใหญ่ อยู่ที่แหลม Dondra ใต้สุดของเกาะ
๓. สมุนเทพ ขึ่ช้างเผือก ถือกระบอง ศาลใหญ่ของท่านอยู่ที่ตีนเขาพระพุทธบาท (Adam'S Peak)
๔. นาถเทพ คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ชาวพม่านับถือในนาม "โลกนาถ" และชาวจีนในนาม "กวนอิม" มีศาลอยู่ที่เมือง Kandy

ส่วนในประเทศไทยมีปรากฎหลักฐานเทวารักษ์ทั้ง ๔ พระองค์ อยู่ที่พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ที่ยอดบันไดสู่ลานประทักษิณในวิหารพระม้าเทวรูปที่เรียกว่า "จัตุคามรามเทพ"  ที่จริงก็คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางนาถเทพ ๒ พระองค์ คือ พระขัตตุคามเทพและรามเทพ


การขออธิษฐานจากท้าวจตุคามรามเทพนั้น  ทำได้โดยมีเงื่อนไข ๓ ประการ


  1. อธิษฐานขอในสิ่งที่เป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อศีลธรรม
  2. เมื่อได้รับสิ่งที่หวังแล้ว ต้องรักษาสัจจะที่ได้ให้ไว้กับพระองค์
  3. ควรจะสร้างกุศลกรรมถวายแด่องค์จตุคามรามเทพ
แต่ที่สำคัญ อย่าลำพังเพียงอธิษฐาน ต้องสร้างกุศลกรรมให้แก่ตนเองให้ครบทุกด้านด้วย คือ ให้ทาน รักษาศีล และบำเพ็ญภาวนา

ตำนานพระพิฆเณศ (ปางพระตรีมุขคเณศ ๓ เศียร) 
ในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตีเนื่องจากอยู่องค์เดียวเลยเกิดความเหงา และ ประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอก ที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวายในพระตำหนักใน

จึงทรงเสกเด็กขึ้นมาเพื่อเป็นพระโอรสที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวเทพ เสด็จออกไปตามพระกิจต่าง ๆ มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้น องค์ศิวเทพได้กลับมาและเมื่อจะเข้าไปด้านในก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใครและในลักษณะเดียวกัน ศิวเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่มนั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา

เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธและตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้พลาง ถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใครเพราะตนกำลังทำตามบัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตกในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้นก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจ และศีรษะก็ถูกตัดหายไป

ในขณะนั้นเองพระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาลก็เสด็จออกมาด้านนอกและถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรสที่ปราศจากศีรษะ และเมื่อได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง

เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้น  องค์มหาเทพก็ตรัสว่าจะทำให้เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่งกระวนกระวายใจ  เนื่องจาก หากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นพระศิวะเลยโยนตรีศูลอาวุธของพระองค์ออกไปหาศีรษะสิ่งที่มีชีวิตแรกที่พบมาและปรากฏว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมาซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อให้และชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่อง ให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานนามว่า พระพิฆเนศวร ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรคและยังทรงให้พรว่าในการประกอบพิธีการต่าง ๆ ทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวร์ก่อนเพื่อความสำเร็จของพิธีนั้น

การขออธิษฐานขอพรพระพิฆเนศวร์ ทางด้าน พิชิตทุกอุปสรรค ประทานทุกความสำเร็จ



ท้าวจตุคามรามเทพ


ศาลาหลวงพ่อเหลือ

ในศาลาแห่งนี้ มี หลวงพ่อเหลือ  หลวงพ่อเงิน และหลวงพ่อสด

ประวัติหลวงพ่อเหลือ วัดโบสถ์ สามโคก
หลวงพ่อเหลือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก เป็นวัดเก่ามีมาแต่โบราณ เดิมมีชื่อว่า “วัดสร้อยนางหงษ์” เป็นวัดโบราณครั้งต้นแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา หลวงพ่อเหลือเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานชุกชีในโบสถ์จำนวน ๑๒ องค์ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ขโมยได้เข้าลักพระพุทธรูปในโบสถ์ แต่พระพุทธรูปเป็นพระศิลา มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ขโมยจึงตัดเศียรของพระพุทธรูปไป คงเหลือพระพุทธรูปเพียงองค์เดียวที่ไม่ถูกตัดเศียร เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนักชาวบ้านจึงมีความศรัทธาว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเหลือ”ทางวัดได้นำมาเก็บรักษาไว้ และต่อมาก็ได้นำมาให้ผู้คนสักการบูชาถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


หลวงพ่อเหลือ

            พระพุทธคุณที่เชื่อถือต่อองค์หลวงพ่อเหลือคือ ผู้ใดได้ไปกราบไหว้บูชาปิดทองแล้วจะแคล้วคลาดจากอุบัติภัยต่างๆได้อย่างตั้งใจ และมีเงินทองเหลือให้เหลือเกิน จะไม่ยากจนทุกผู้ทุกคนไป

หลวงพ่อสด  (อยู่ตำแหน่งซ้ายมือ ของรูป)
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นพระภิกษุนิกายเถรวาทฝ่ายมหานิกายชาวไทย ในบรรดาหมู่ผู้ศรัทธานับถือมักเรียกท่านด้วยชื่อ "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" เนื่องจากท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร) ท่านเป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะพระวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการปฏิบัติกรรมฐานตามแนววิชชาธรรมกาย ซึ่งนับเป็นวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำภาษีเจริญ สิริอายุได้ ๗๔ ปี ๓ เดือน ๒๔ วัน นับอายุพรรษาได้ ๕๓ พรรษา ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เวลา ๑๕.๐๕ น. 

หลวงพ่อเงิน (อยู่ตำแหน่งขวามือ ของรูป)
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกิดวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๓ ตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร

นามเดิมแรกเกิดของท่านคือ เงิน เมื่อท่านอายุได้ ๓ ขวบ ผู้เป็นลุงได้พามาอยู่ที่กรุงเทพฯ  ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดชนะสงคราม ต่อมา เมื่อท่านอายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชนะสงครามศึกษาพระธรรมวินัย คำภีร์มูลกัจจายน์ เวทมนตร์คาถาและวิทยาการต่างๆ จนแตกฉาน จากนั้น ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ณ วัดชนะสงคราม มีฉายาว่า "พุทธโชติ" บวชได้ ๓ พรรษา ก็ย้ายมาจำพรรษาที่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) ต่อมาย้ายเข้าไปอยู่ที่ในหมู่บ้านวังตะโก อยู่ห่างจากวัดคงคารามคนละฝั่งเท่านั้น ตอนที่ย้ายจากวัดคงคาราม หลวงพ่อได้นำกิ่งโพธิ์ติดต้วมาด้วย 1 กิ่งแล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกเสี่ยงทาย ถ้าหากต้นโพธิ์ตายก็คงจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหากที่นี่จะเป็นวัดได้ขอให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงาม ปรากฏว่า ต้นโพธิ์เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต หลวงพ่อเงินก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่นี่ด้วย และท่านเป็นเพื่อนกับหลวงปู่ศุข ซึ่งหลวงปู่ศุขก็ได้ฝากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาเป็นลูกศิษย์ด้วย  หลวงพ่อเงินถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ สิริอายุได้ ๑๑๑ ปี


แพให้อาหารปลา

หลังจากทำบุญเสร็จแล้ว ก็เดินไปทางริมน้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายขององค์หลวงพ่อโสธร  อาหารปลาที่นี่ มี ๒ แบบ คือ ขนมปังแถว ๒๐ บาท ถ้าต้องการเป็นอาหารเม็ด ก็มีให้เลือก โดยขนาดเล็ก ถังละ ๑๐ แบบ เป็นแบบตู้หยอดเหรียญ โดยใส่กระป๋องที่เตรียมไว้ในตู้ แล้วหยอดเหรียญสิบ อาหารเม็ดก็จะไหลออกมาใส่ กระป๋อง  ถ้าต้องการให้ทานแก่ปลาในปริมาณที่มากขึ้นหน่อยก็จะมีแบบที่ทางร้านเตรียมไว้ คือ ราคา ๕๐ บาท ค่ะ   ส่วนใหญ่ปลาที่อยู่ในด้านที่ล้อมไว้ จะเป็นปลาสวาย  ถ้าให้อาหารไกลๆ  โดยไปที่แพปลาแล้วให้อาหารไกลออกไปอีกหน่อย เราจะเห็นปลาตะเพียน 

บรรยากาศริมน้ำ ข้างวัด

ฝูงปลา

ฝูงปลากินอาหารเม็ด

ชายน้ำริมวัด



พิพิทธภัณฑ์วัดโบสถ์

ตั้งอยู่ด้านข้างทางซ้าย ของ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่


ศาลาประดิษฐาน พระพุทธรูปปางประจำวันเกิด

ตั้งอยู่ตรงกลางของพื้นที่วัด ก่อนถึงศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่


ร้านอาหาร

ถ้าเดินทางมาช่วงวันจันทร์ - ศุกร์ จะมีร้านอาหารเปิดเพียง ๒-๓ ร้าน  ร้านอาหารแนะนำให้ชิม คือร้านก๋วยจั๊บ (เปิดทุกวัน)  หากเดินทางในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันนักขัตฤกษ์ จะมีร้านค้าเปิดเต็มเกือบทุกร้าน ให้ท่านชิมอย่างเพลิดเพลิน

วัดเก่าแก่ ในอำเภอ สามโคก ที่อยู่ใกล้ วัดโบสถ์ แห่งนี้ ก็มีวัดไทยรามัญ หรือวัดไทยของชาวไทยเชื้อสายมอญ คือ วัดเจดีย์ทอง โดยออกจากวัดโบสถ์ เลี้ยวซ้าย ขับไปตามเส้นทางเพียง ๔ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายก็จะพบวัดเจดีย์ทอง 


ขอบพระคุณทุกท่าน ค่ะ  

โปรดติดตาม พาเที่ยว สถานที่ต่อไป นะคะ 😄

ขอขอบคุณ : ข้อมูล จาก วิกิพีเดีย ในการอ้างอิงบางส่วน


สำหรับผู้ที่ หาที่พัก ใน จังหวัดปทุมธานี สามารถ กดลิงค์ ที่นี่ ได้  หรือ กดลิงค์นี่ ค่ะ 

#วัดโบสถ์ #สามโคก #ปทุมธานี #ปลาสวาย #เจ้าพระยา #พาเที่ยว #เที่ยวไหน #ไหว้พระ #หลวงพ่อโสธร #หลวงพ่อโต #สมเด็จพุฒาจารย์ #จตุคามรามเทพ #หลวงปู่ทวด #ให้อาหารปลา #ขอพร #บนบาน #กราบไหว้ #สิ่งศักดิ์สิทธิ์ #ความสุข #หลวงพอ่สด #หลวงพ่อเงิน #วัดบางคลาน #วัดปากน้ำ #พระสีวลี #สีวลีเถระ #พระพิฆเนศ #3 เศียร #ใหญ่ที่สุด #เทศนาธรรม #ปางประจำวันเกิด