เที่ยวไหนดี? ... วัดปัญญานันทาราม ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตอนที่ ๑/๓

เที่ยวไหนดี? ... วัดปัญญานันทาราม   😀

วัดปัญญานันทาราม ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

การเดินทาง   จากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าไปคลองหลวง โดยใช้วงแหวนรอบนอก ออกที่คลองหลวง แล้วกลับรถ เพื่อขึ้นสะพานข้ามวงแหวนรอบนอก ไป ๓๕๐ เมตร แล้วกลับรถ หรือ หากท่านใด สะดวกมาทางรังสิต แล้วเข้าคลองหลวง เมื่อผ่านคลองสี่ แล้วก็จะมาพบสะพานแห่งนี้ เช่นเดียวกัน  หลังจากขึ้นสะพานนี้แล้ว ขับไปประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ไป ๓ กิโลเมตร เข้าถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๑ จะเป็นถนนเดียวกับโรงพยาบาลคลองหลวง (ขับประมาณ ๓ กิโลเมตร) เมื่อถึงสุดทางเป็นสามแยก เลี้ยวซ้าย ขับไป ๔ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้า ซอยคลองหกตะวันตก ๕๙ เข้าสุดซอย จะเห็น เจดีย์พุทธคยา (จำลอง)


พิกัด GPS : 14.129207, 100.722953

แผนที่ 



วัดปัญญานันทาราม

ตั้งอยู่ เลขที่ ๑ หมู่ ๑๐ ซอยคลองหกตะวันตก ๕๙  ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐  แต่เดิมมา ที่ดินของวัดบริเวณนี้เป็นของ นายพิชิต และ นางจำรัส ทองสีม่วง ได้ถวายที่ดิน ๖ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ แก่คณะสงฆ์โดยมีพระเฉลิม ปภสฺสโร เป็นผู้รับมอบ และตั้งเป็น “สำนักสงฆ์สนเฒ่า”  ต่อมาสำนักสงฆ์ขาดพระภิกษุดูแล  นางบุญส่ง โพธิจันทร์ จึงได้ประสานงานและร่วมกันถวายที่ดิน และสำนักสงฆ์แห่งนี้ แด่ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปญฺญานนฺโท)   เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นวัดปัญญานันทาราม เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๗

ต่อมา คณะศิษยานุศิษย์ โดยศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา ได้ร่วมใจ ซื้อที่ดินเพิ่ม เพื่อสร้างวัดปัญญานันทาราม เป็นธรรมสมโภช ๘๔ ปี พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) โดย พระมหาสง่า สุภโร (ปัจจุบัน : พระปัญญานันทมุนี), พระมหามานพ ปญฺญาวชิโร และ พระมหาสมโภช ฐิติญาโณ จากวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ร่วมสนองงาน ก่อสร้างวัด และ กิจกรรมงานเผยแผ่พระศาสนา ทางด้านการให้ความรู้ การปฺฎิบัติธรรม  ปัจจุบันมี สถานศึกษา หน่วยงานราชการ และ เอกชนหลายแห่ง ส่งบุคลากรเข้ารับการอบรม อย่างต่อเนื่อง

วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕  วัดปัญญานันทารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ปัจจุบัน วัดปัญญานันทาราม มีเนื้อที่ ๖๙ ไร่ ๓ งาน ๒๒ ตารางวา
ประธานสงฆ์  :  พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร)
เจ้าอาวาส  :  พระมหาเฉลิม ปิยทสฺสี

เจดีย์พุทธคยา (จำลอง)

พุทธอุทยาน สังเวชนียสถาน (จำลอง) ๔ แห่ง ณ วัดปัญญานันทาราม

รูปหล่อ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

พระปัญญานันทมุนี  (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาส (ปัจจุบัน) วัดชลประทานรังสฤษดิ์   มีความตั้งใจที่จะการสร้างสังเวชนียสถาน เนื่องจาก รำลึกถึงความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญา, ความตั้งใจของท่านพุทธทาส ที่จะตอบแทนพุทธศาสนา, เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด ให้สมกับคำว่า “เกิดมาชาติหนึ่ง ชาวพุทธก็ควรไป  ๔ สังเวชนียสถาน (ที่อินเดีย) ให้ได้

วันพุธที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๘  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์และเปิด พุทธอุทยาน สังเวชนียสถาน (จำลอง) สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๘ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

ด้านขวาองค์เจดีย์ (ด้านขวามือของพระพุทธเมตตา)

ศิลปะบนองค์เจดีย์
 ตัวองค์เจดีย์ และโดยรอบ เป็นลักษณะงานปูนปั้น เน้นสีขาว และ สีเทา สลับ เพื่อให้ดูเด่น เรียบง่าย แต่สวยงาม ใต้องค์เจดีย์ มีห้องภาพเขียน ๓ มิติ เป็นภาพแสดงเกี่ยวกับธรรม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูป เซลฟี่ ได้

ถ่ายแบบด้านตรง

ถ่ายจากมุมด้านหลังองค์เจดีย์

ภาพถ่ายมุมเงย ด้านหน้าองค์เจดีย์

ด้านหน้าองค์เจดีย์
ที่ฐานของรูปหล่อหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มี คำจารึก เกี่ยวกับ ความตั้งมั่นของหลวงพ่อ ดังนี้

ปณิธานชีวิต
พระพุทธศาสนาเป็นคำสอน ที่สอนให้ทุกคน ได้รับเสรีภาพ อย่างสมบูรณ์ ข้าพเจ้า ต้องการเสรีภาพ จึงพยายาม ดำเนินชีวิตตาม พระพุทธองค์ เพื่อจุดหมาย ๒ ประการ คือ ทำตนของข้าพเจ้า ให้เป็นไท และช่วยคนอื่น ให้เป็นไทอีกด้วย นี่คือปณิธาน ของข้าพเจ้า ที่เกิดขึ้นในใจ ขณะที่ยืน ทำการบูชา ใต้ควงไม้มหาโพธิ์ ณ ตำบลพุทธคยา ในคราวนั้น"  
ปัญญานันทภิกขุ  ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พ.ศ. ๒๔๙๔

หัวใจและแผนงาน
๑. ร่างกายชีวิต เป็นของ พระรัตนตรัย ข้าพเจ้าเป็นทาส โดยสมบูรณ์ 
๒. ความมุ่งหมายของข้าพเจ้า อยู่ที่การประกาศ คำสอนที่แท้ของพุทธศาสนา ข้าพเจ้า จึงต้องเป็นคนกล้าพูดความจริงทุกกาละเทศะ
๓. ข้าพเจ้า จักต้องสู้ทุกวิถีทาง เพื่อทำลายสิ่งเหลวไหลในพระพุทธศาสนา นำความเข้าใจถูกมาให้แก่ชาวพุทธ
๔. ข้าพเจ้าไม่ต้องการอะไร เป็นส่วนตัว นอกจากปัจจัย ๔ พอเลี้ยงอัตภาพเท่านั้น ผลประโยชน์อันใด ที่เกิดจากงานของข้าพเจ้า สิ่งนั้น เป็นของงาน ที่เป็นส่วนร่วมต่อไป
๕. ข้าพเจ้าถือว่า คนประพฤติชอบ ตามหลักธรรม เป็นผู้ร่วมงาน ของข้าพเจ้า นอกจากนี้ไม่ใช่
ปัญญานันทภิกขุ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙

อุดมการณ์ชีวิต 
เราเกิดมาทำไม?
"เกิดมาเพื่อทำชีวิตให้มีค่า โดยการทำงาน งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุข ขณะทำงาน"
ฉันอยู่เพื่องาน ได้ทำงาน ก็มีความสุขใจ ความสุขของฉัน อยู่กับงาน ทุกวันนั่นเอง
ปัญญานันทภิกขุ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙

พระพุทธเมตตา (จำลอง)

หลังจากเก็บภาพ รอบๆ องค์เจดีย์พุทธคยา (จำลอง) แล้ว จึงเดินเข้ามากราบสักการะพระประธาน ภายในองค์เจดีย์ มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ ทำให้คลายร้อน ที่สะสมมาจากด้านนอกได้ดี ครับ

พระพุทธเมตตา (จำลอง)

พระพุทธเมตตา (จำลอง) พระประธาน ประดิษฐาน ที่ เจดีย์พุทธคยา (จำลอง) วัดปัญญานันทาราม สร้างเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

พระพุทธเมตตา (จำลอง)

พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานประทับนั่งด้วยความสงบเย็น โดดเด่นสง่างามอยู่ภายในชั้นล่าง ของ พระมหาเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประวัติ พระพุทธเมตตา
พระพุทธเมตตา ประดิษฐานภายในเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ ปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร (สำหรับคนไทย)  ชาวอินเดียจะเรียกว่าปางภูมิสัมผัส หรือปางภูมิผัสส  พุทธลักษณะทรงชี้ให้แผ่นดินเป็นพยานแห่งการทำความดีในอดีต  

ความหมายของพระพุทธรูปปางนี้ คือ เป็นปางที่แสดงถึง เหตุการณ์ที่พระเจ้าสิทธัตถะทรงประทับนั่งที่บัลลังก์ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  และตั้งจิตอธิษฐานที่จะปฏิบัติธรรมให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงให้สิ้นกิเลสภายในคืนนั้น ว่า

“แม้เลือดและเนื้อในสรีระนี้จะเหือดแห้งไป เหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามทีเถิด  ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะไม่ยอมลุกจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด”

เหล่าเทพยดาทุกชั้นทุกหมู่เหล่า ต่างก็มาประชุมกัน แวดล้อมเพื่อจะปกป้องและทำสักการะบูชาพระองค์  ขณะนั้นพญามารชื่อว่า "วสวัตตี"  ซึ่งได้ติดตามขัดขวางพระองค์ ตั้งแต่เริ่มมิให้ทรงออกผนวช ได้ระดมเหล่าเสนามารพร้อมด้วยอาวุธมากมายยกพลมา หมายจะข่มขู่ให้พระโพธิสัตว์ตกพระหฤทัยกลัวและลุกหนีไปเสียจากบัลลังก์ที่ประทับ  พญามารได้เนรมิตแขนข้างละพัน  ถืออาวุธนานาชนิด  ขึ้นคอช้างชื่อ "คีรีเมขละ"  นำทัพมาโจมตี ทำให้เหล่าเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ประชุมแวดล้อมอยู่ต่างตกใจกลัวหนีไป เหลือเพียงแต่พระมหาบุรุษเพียงผู้เดียว


พระพุทธเมตตา (จำลอง)
พญามารอ้างว่าบัลลังก์ที่พระองค์ประทับอยู่นั้น เป็นของตน โดยมีเหล่าเสนามารเป็นพยาน แล้วท้าทายว่า หามีผู้ใด ที่เป็นพยานให้แก่พระองค์ได้ ว่าบัลลังก์นี้เป็นของพระองค์  พระสิทธัตถะจึงเหยียดนิ้วชี้ลงแผ่นดิน เพราะในการให้ทานในแต่ละครั้ง ตั้งแต่อดีตกาล พระองค์ทรงหลั่งทักษิโณทก ทันใดนั้นพระแม่ธรณีจึงมาเป็นพยาน และบีบมวยผมซึ่งชุ่มด้วยน้ำให้หลั่งไหลออกมาเป็นท้องทะเลท่วมทับเหล่ามารจนพ่ายหมดสิ้นต่อพุทธบารมีที่ได้สั่งสมไว้   หลังจากนั้น พระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขนาดพระพุทธรูป (ที่อินเดีย)  วัดจากพระเพลาซ้ายถึงขวา กว้าง ๑๕๕ เซนติเมตร สูงจากพระเพลาถึงพระเกตุประมาณ ๑๖๐  เซนติเมตร ที่ฐานองค์พระมีรูปสิงโต ๒  ตัวซ้ายขวาถัดจากสิงโตเข้ามาเป็นรูปช้าง ๒ ตัวซ้ายขวา และตรงกลางเป็นรูปพระแม่ธรณีในท่าคุกเข่า

ตามประวัติกล่าวไว้ว่าองค์พระสร้างขึ้นด้วยหินสีดำเนื้อละเอียด เป็นศิลปะสมัยราชวงศ์ปาละ มีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก สมัญญานามว่า "พระพุทธเมตตา" เนื่องจาก พระพักตร์องค์พระเปี่ยมด้วยความอ่อนโยน เมตตากรุณา ต่อผู้ที่พบเห็น เปรียบเสมือนหนึ่งเป็นตัวเเทนแห่งการระลึกถึงพระเมตตาคุณของพระพุทธองค์ ที่เมื่อทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้เมตตาโปรดสั่งสอนไวนัยสัตว์ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ได้รู้ตามคำสั่งสอนของพระองค์

ในศตวรรษที่ ๑๓  ดินแดนบริเวณนี้ มีกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ พระนามว่า พระเจ้าปูรณวรมา เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพุทธมามกะ ครองแคว้นมคธ  และมีพระเจ้าศศางกา แห่งฮินดู  มุ่งรุกรานแคว้นมคธ ได้ยกทัพมาจากรัฐเบงกอลสู่ดินแดนมคธ  โดยตั้งใจจะทำลายขวัญและกำลังใจของ กษัตริย์มคธและประชาชน เสียก่อน เพราะบริเวณพุทธคยานี้มีต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระพุทธเมตตาเป็นศูนย์กลางที่ชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ สักการะ บูชากันมาก หากแผนการ แล้วเสร็จจึงจะยกทัพเข้าตีเมืองหลวง เมื่อยกทัพมาถึง เหล่าทหารต่างทำการรื้อถอนต้นพระศรีมหาโพธิ์ หากรากไปถึงที่ใด ก็ขุดถอนให้สิ้น พร้อมทำการ
เผา มิให้มีหน่อพันธุ์ ขยายไปที่ใด  
ลักษณะศิลปะ ปูนปั้น ภายในเจดีย์พุทธคยา (จำลอง)

เมื่อ แม่ทัพผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำลายพระพุทธเมตตา ได้เห็นพระพักตร์ขององค์พระ เกิดความเปลี่ยนใจ พร้อมออกกุศโลบาย ทูลต่อพระเจ้าศศางกา ว่าขอเวลาในการดำเนินการ หลังจากนั้น จึงโบกปูนปิดเป็นกำแพง เสมือนหนึ่ง ให้ผู้พบเห็นว่าไม่มีองค์พระ  และให้มีการจุดประทีปบูชาไว้ภายใน หลังจากนั้น กราบทูลให้พระเจ้าศศางกาทรงทราบว่าได้ทำลายองค์พระแล้ว  หลังจากที่พระเจ้าศศางกาทรงทราบข่าว ดังกล่าว ก็เกิดการประชวร และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา เมื่อกองทัพเบงกอล ทราบข่าวว่า กองทัพของพระเจ้าปูรณวรมา กำลังเดินทางใกล้จะมาถึง จึงถอยทัพกลับ  ครั้นกองทัพพระเจ้าปูรณวรมา มาถึง ได้ทุบกำแพงนั้นเสีย ได้พบเหตุมหัศจรรย์ใจว่า ประทีปที่จุดบูชาไว้ภายในยังส่องแสงสว่างโดยไม่ดับเลย

มุมหนึ่ง ของ เจดีย์พุทธคยา (จำลอง)

เมื่อทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาจากเจดีย์พุทธยา (จำลอง)  มาที่แดนประสูติ


สังเวชนียสถานที่ 1 แดนประสูติ

แดนประสูติ

แดนประสูติที่สวนลุมพินีวัน (อินเดีย) ขณะนั้น ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์แปลกกรุงเทวทหะเป็นชาตสถาน (ที่ประสูต) ของสิทธัตถะกุมาร ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล 
เมื่อพระองค์ประสูติได้ทรงเปล่ง อาสภิวาจา (วาจาอันองอาจ) ด้วยความตั้งใจมั่นว่า 
"อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ  เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก
เชฎโฐหะมัสมิ โลกัสสะ  เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก
เสฏโฐหะมัสมิ โลกัสสะ  เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก
อะยะมันติมา เม ชาติ   ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้ายของเรา
นัตถิทานิ ปุนัพภะโว  บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่เราอีกฯ"

แดนประสูติ นี้อยู่ทางด้านขวามือ ขององค์เจดีย์  หากท่านเดินมา ก็สามารถแวะก่อนเข้าองค์เจดีย์ ก็ได้ ครับ

สัญลักษณ์ดอกบัวทิพย์ ๗ ดอก ทั้สิทธัตถะกุมารเดินหลังจากประสูติ
พระพุทธรูปปางประสูติ

พระพุทธรูปปางประสูติ
พระพุทธรูปปางประสูติ นี้ จำลองจากลักษณะของสิทธัตถะกุมาร ที่แสดงหลังจากประสูติ ตามพุทธประวัติ  พระพุทธรูปปางนี้ มีความหมายว่าผู้ที่จะสำเร็จสมดังปรารถนาจากต้องฝืนชะตา ฝ่าดวง ลิขิตสิ่งทั้งปวงด้วยตนเองด้วยหลักแห่งการกระทำ อาศัยความเพียร มีจิตเมตตาแผ่ไพศาลดุจแผ่นฟ้า มีปัญญาหนักแน่นดุจแผ่นดิน

ช้างบนยอดเสาอโศก และ เจดีย์พุทธคยา (จำลอง)

ช้างบนยอดเสาอโศก
สัญลักษณ์แทนความประเสริฐ บุญบารมี สื่อนัยที่พระนางสิริมหามายา มีพระสุบินนิมิต (ฝัน) เห็นช้างเผือกตัวประเสริฐ (นาค) ถือดอกบัวกระทำประทักษิณ (เวียนขวารอบพระวรกาย) แล้วหายเข้าไปสู่พระอุทร (ท้อง) ซึ่งหลังจากนั้นก็นางก็ทรงพระครรภ์

สำหรับสถานที่ ที่เหลืออยู่  (สถานที่แสดงปฐมเทศนา, สถานที่ปรินิพพาน)  ผมไม่เห็นในบริเวณนี้  ก็เลยตัดสินใจ ไปห้องภาพ แสดงธรรม ที่อยู่ใต้องค์เจดีย์  ครับ

ขอบคุณครับ 😄

อ่านต่อ :  วัดปัญญานันทาราม ชั้นพุทธบารมี (ห้องภาพ ๓ มิติ)
อ่านต่อ  : วัดปัญญานันทาราม โบสถ์ และการปฏิบัติธรรม



สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดปทุมธานี  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี ? ... ทริปภูลมโล ภูเรือ ๓วัน ๒คืน (ร้านอาหาร Kitchen Plus ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย)

เที่ยวไหนดี? ... ทริปภูลมโล ภูเรือ ๓วัน ๒คืน  😀

ร้านอาหาร Kitchen Plus ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

กลับจากวัดป่าห้วยลาด  ออกมา มุ่งสู่กรุงเทพ  เป็นเวลาเกือบบ่ายโมง แวะเติมน้ำมัน ที่ปั้ม ปตท ภูเรือ  สังเกตุว่ามีร้านอาหารอยู่จึงเดินเข้าไป พบว่าเป็นร้าน Kitchen Plus  ด้วยบรรยากาศของสถานที่ตั้งร้าน ทำให้รู้สึก อยากนั่งพักที่นี่ จึงเข้าไปรับประทานอาหาร ร้าน Kitchen Plus สาขาภูเรือนี้  เปิดให้บริการ ตั้งแต่เวลาแปดโมงเช้า ถึงสามทุ่ม  เบอร์ติดต่อ 042 899 023



ร้าน Kitchen Plus จะอยู่ด้านในสุด


หน้าร้าน Kitchen Plus

พิกัด GPS :  17.455333, 101.367258

แผนที่





เป็นร้านอาหารที่มีบรรยากาศแบบร้านตั้งอยู่บนเนินเขา วิวด้านข้าง และด้านหลังของร้าน ได้บรรยากาศการรับประทานอาหาร บนเนินเขาสูง  สำหรับการนั่งในส่วนนอกร้าน ทั้งด้านข้างและด้านหลังร้าน จะไม่เหมาะในช่วงหลัง ๑๐ โมง ถึง ๔ โมงเย็น  เพราะแดดค่อนข้างแรง

บรรยากาศ (ด้านข้างของร้าน) ท่ามกลางทิวเขา

รายการอาหารส่วนใหญ่ ทางร้านจะเน้นเป็นอาหารไทย แต่ก็มีรายการอาหารอื่นๆ เช่น สเต๊ก, สปาเก็ตตี้  ซึ่งเมนูจะเหมือนกับ Kitchen Plus สาขาอื่นๆ  ส่วนมากผมจะพบร้าน Kitchen Plus ใน Homepro  สำหรับอาหารมื้อกลางวัน  ที่ผมสั่งมี ๓ อย่าง คือ ส้มตำไทยปู (ไม่ใส่ถั่วลิสง),  ชุดข้าวน้ำพริกกับแกงจืด และยำวุ้นเส้นรวมมิตร (ไม่ใส่หอมหัวใหญ่ และถั่วลิสง)   แต่ละรายการที่ผมมี (...)  ไว้ เพราะตามปกติทางร้านจะใส่มาในอาหาร แต่ ผมขออนุญาตไม่ใส่ ครับ 😄

นั่งมองรอบๆ ดู บรรยากาศภายในร้าน  สำหรับชาวคอกาแฟ ทั้งหลาย ร้าน Kitchen Plus มีบริการกาแฟสด หลากลายเมนู


บรรยากาศภายในร้าน เคาน์เตอร์
วันนี้ลูกค้า ค่อนข้างแน่นร้านสักหน่อย ส่วนใหญ่มานั่งบริเวณ ที่สามารถเห็นวิว ภายนอกได้  และแล้ว....ก็ถึงเวลาเสริฟ์อาหาร  ครับ

ชุดข้าวน้ำพริก

แกงจืด รวมอยู่ในชุดข้าวน้ำพริก

ยำวุ้นเส้นรวมมิตร

ส้มตำไทยปู แบบไม่มีถั่วลิสง 😄

รสชาติอาหาร จะกลมกล่อม รสไม่จัดจ้านมากนัก ทำให้ไม่ต้องดื่มน้ำมาก (ไม่ค่อยเผ็ดมาก)  ในความรู้สึก ผมว่ารสชาติอาหารของ Kitchen Plus สาขาภูเรือ นีิ จะอร่อยกว่า สาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ

ราคาอาหาร จานละประมาณ ๗๐ บาท ขึ้นไป สำหรับอาหารชุดข้าวก็มีให้เลือกหลากหลาย ราคาจะอยู่ประมาณ ๑๑๕ บาทขึ้นไป  ถ้านักท่องเที่ยวที่ต้องการรับประทานแบบเป็นกับข้าว ทางร้านก็มีรายการในรูปแบบนี้ให้ ครับ

ระหว่างนั่งรับประทานอาหารกลางวัน ก็เก็บภาพด้านนอก รอบๆ

มุมถ่ายภาพ ทางด้านหลังร้าน

มุมโต๊ะที่ผมนั่ง


มุมด้านหลังร้าน เหมาะสำหรับ ยามเย็น
หลังอิ่มท้องกับอาหารมื้อกลางวันแล้ว ผมก็เข้าห้องน้ำสักหน่อย ได้เห็นแผนที่จังหวัดเลย  ในบรรยากาศเก่าๆ  เป็นภาพวาดแบบง่ายๆ  ซึ่งแผนที่ในรูปแบบนี้ ผมไม่ค่อยได้เห็นนานมากแล้ว ครับ

แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดเลย
ออกเดินทางจากปั้ม ปตท ภูเรือ กลับสู่กรุงเทพฯ ก็ต้องผ่านทางด้านอำเภอด่านซ้าย ดินแดนแห่งสัจจะไมตรี และเทศกาลผีตาโขน เก็บภาพขณะเดินทาง ครับ


ป้ายต้อนรับเข้าสู่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

จุดชมวิว สุดทางที่ด่านซ้าย

สรุป ทริปการเที่ยวภูลมโล ภูเรือ ๓ วัน ๒ คืน ของผม มีดังนี้ ครับ

คืนวันพฤหัสบดี ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ

เช้าวันศุกร์ แวะ รับประทานอาหารเช้าที่ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ก่อนที่จะเข้าสู่จังหวัดเลย

วัดศรีมงคล บ้านนาทราย อ.หล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
ปางสุขกมลโฮมสเตย์ (ที่รับประทานอาหารกลางวัน)
ไร่ศรีวงษ์โฮมสเตย์  (ที่พักและที่รับประทานอาหารเย็น)
ภูลมโล@เลย  โฮมสเตย์  (ละแวกเดียวกัน)

เช้าวันเสาร์
ภูลมโล ตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  (เช้า)
วัดเนรมิตวิปัสสนา อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (บ่าย)
พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (บ่าย)
วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย (บ่ายเริ่มเย็น)
วรัญญารีสอร์ท ที่พักภูเรือ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย  (เย็น)

เช้าวันอาทิตย์
อุทยานแห่งชาติภูเรือ  (เช้า)
วัดป่าห้วยลาด ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย (บ่าย)
ร้าน Kitchen Plus สาขาภูเรือ ในปั้ม ปตท  (รับประทานอาหารกลางวัน)


ขอบคุณที่ติดตาม ครับ  😄

เที่ยวไหนดี ? ... ทริปภูลมโล ภูเรือ ๓วัน ๒คืน (อุทยานแห่งชาติภูเรือ)

เที่ยวไหนดี? ... ทริปภูลมโล ภูเรือ ๓วัน ๒คืน  😀

อุทยานแห่งชาติภูเรือ ตำบลหนองบัว อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย

เช้าวันอาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐  ล้อหมุนเวลาตีห้าครึ่ง ออกจากวรัญญารีสอร์ท เลี้ยวซ้ายตรงขึ้น ไปประมาณ ๓-๕ นาที จะพบด่านของอุทยานแห่งชาตภูเรือ  หลังจากชำระเงิน ๑๑๐ บาท (ผู้ใหญ่ ๒ คน และ รถยนต์หนึ่งคัน) เป็นที่เรียบร้อย ขับตรงขึ้นไป สักประมาณ ๖-๘ นาที จะพบที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ  จะมีป้ายบอกทาง ขึ้นยอดภูเรือ  อีกประมาณ ๖-๘ นาที ก็จะถึงสถานที่จอดรถ  แล้วเดินมาขึ้นจุดบริการรถสองแถวขึ้นยอดภูเรือ  หากท่านใดประสงค์ จะเดินขึ้น ก็ได้ ครับ 


กรณีเดินทางมาจากกรุงเทพฯ
๑. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว  ใช้ทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๐๓ ถึง อำเภอภูเรือ จะมีป้ายอุทยานแห่งชาติอยู่ปากทางเข้า (อยู่ข้างที่ว่าการอำเภอภูเรือ ถนนทางหลวงจะเป็นหมายเลข ๒๑)  หากท่านมาจากจังหวัดเลย ป้ายจะอยู่ทางด้านขวามือ  จากปากทางเข้าเดินทางต่อไปอีก ประมาณ ๔ กิโลเมตร ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถนนภายในอุทยานแห่งชาติเป็นถนนลาดยาง  บางช่วงเส้นทางเดินรถค่อนข้างชัน ควรขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ใช้เกียร์ต่ำ
ป้ายทางเข้า ด้านหน้าถนนทางหลวงหมายเลข ๒๑

๒. เดินทางด้วยรถสาธารณะ จากกรงุเทพสามารถนั่งรถทัวร์จากสถานีขนส่งหมอชิต๒ ซึ่งมีรถทัวร์ให้บริการหลาย บริษัท มาลงหน้าตลาดเช้า ใกล้ภูเรือ ติดต่อเหมารถสองแถวขึ้นไปได้จากตรงนี้


พิกัด GPS ปากทางถนนเข้าอุทยานแห่งชาติภุเรือ : 17.453364, 101.362210
พิกัด GPS อุทยานแห่งชาติภุเรือ : 17.514289, 101.344974

แผนที่




อุทยานแห่งชาติภูเรือ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙  อธิบดีกรมป่าไม้ ได้เดินทางมาราชการที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ขณะนั้น ปลัดจังหวัดเลย คือ นายสุจินต์ เพชรดี ได้ให้ความเห็นว่า ควรส่งเสริมป่าภูเรือให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดเลย  จากนั้นทางอำเภอภูเรือได้มีการสำรวจพื้นที่ป่าภูเรือ ซึ่งได้เสนอรายงานต่อทางจังหวัดเลย ว่า พื้นที่ป่าภูเรือมีความอุดมสมบูรณ์ ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสถานที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตก ป่าไม้ ทิวทัศน์จุดต่างๆ  เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติได้

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นของป่าภูเรือ ในพื้นที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ปรากฏว่า ป่าแห่งนี้อยู่ในเขตป่าหมายเลข ๒๓ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖  ให้รักษาไว้ให้เป็นป่าถาวรของชาติ

มติการประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าว ที่กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ เสนอมานั้น เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเรือ ในพื้นที่ตำบลอาฮี ตำบลท่าลี่ อำเภอท่าลี่ และตำบลลาดค่าง ตำบลหนองบัว ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๑๒๔  ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๑๖ ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๐.๘๔ ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่เป็นหินทรายและหินแกรนิต(ส่วนน้อย)  สลับซ้อนกับพื้นที่ราบ    ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ มีภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นผายื่นออกมา ดูคล้ายเรือสำเภาใหญ่  และที่ราบบนในบริเวณโดยรอบ มีลักษณะคล้ายท้องเรือ  ประกอบกับ หินบางก้อนในบริเวณนั้น มีลักษณะคล้ายกว้านสมอ ด้วยลักษณะที่ปรากฏดังกล่าว ทำให้เรียกกันว่า "ภูเรือ"   อาณาเขตของอุทยานแห่งชาติภูเรือ จะครอบคลุมพื้นที่อำเภอภูเรือและอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ทิศเหนือติดกับประเทศลาว

ทิวทัศน์ยามเช้า ณ ยอดภูเรือ

ยอดเขาที่สำคัญในอุทยานแห่งชาติภูเรือ เรียงตามลำดับความสูง โดยวัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  ดังนี้
๑. ยอดภูเรือ มีความสูงถึง ๑,๓๖๕ เมตร  (สูงสุด)
๒. ยอดเขาภูสัน มีความสูง ๑.๐๓๕ เมตร
๓. ยอดภูกุ มีความสูง ๑.๐๐๐ เมตร

ทิวทัศน์ รุ่งอรุณ ที่ ยอดภูเรือ 

ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ดินแดนแห่งนี้ แหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญที่ก่อให้เกิดลำธารน้อย ใหญ่ หลายสาย เช่น ห้วยน้ำด่าน ห้วยบง ห้วยเกียงนา ห้วยทรายขาว ห้วยติ้ว และห้วยไผ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกห้วยไผ่ที่สวยงามแห่งหนึ่ง

สภาพภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติภูเรือตั้งอยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดของประเทศไทย และลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาสูง จึงทำให้มีอากาศเย็นตลอดปี บางปีในช่วงฤดูหนาว จะมีน้ำค้างแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งบนยอดหญ้า ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "แม่คะนิ้ง"

สัตว์ป่าและพืชพรรณ
ภูเรือ มีป่าลักษณะต่างๆ หลากหลายชนิดปะปนกันอย่างสวยงาม เช่น ป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณ, ป่าสนเขา และ ป่าดงดิบ  โดยเฉพาะ ยอดภูเรือ จะเป็นป่าสนเขากับสวนหินธรรมชาติสลับกันและมีพุ่มไม้เตี้ยขึ้นแซม กับทุ่งหญ้าเป็นระยะๆ  พืชพรรณที่พบ โดยทั่วไปในอุทยานแห่งชาติภูเรือ  ได้แก่ กุหลาบป่า มอส เฟิร์น และกล้วยไม้ที่สวยงาม เช่น สามปอย, เอื้องเงิน, เอื้องคำ, ไอยเรศ, เอื้องผึ้ง, ม้าวิ่ง ขึ้นตามต้นไม้และโขดหิน กล้วยไม้เหล่านี้จะออกดอกบานสะพรั่งสลับกันไป ตลอดทั้งปี  นอกจากนี้ สัตว์ป่าที่พบบ่อยในอุทยานแห่งชาติภูเรือ เช่น กระต่ายป่า, เต่าเดือย, เต่าปูลู, ไก่ป่า, ไก่ฟ้าพญาลอ, พญากระรอกดำ, ลิง, หมาไน, หมู่ป่า, กวางป่า, เก้ง, หมี และนกสวยงามชนิดต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งฤดูหนาวจะมีการอพยพมาจากประเทศจีน

ท่องเที่ยวที่ยอดภูเรือ

เวลา ตีห้าสีสิบนาที ชำระค่าเข้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ ผู้ใหญ่ ๒ ท่าน และรถยนต์หนึ่งคัน ที่ด่านเก็บค่าบริการ ซึ่งออกจาก วรัญญารีสอร์ทเพียง ๒-๓ นาที ก็ถึง

สำหรับรายละเอียดอัตราค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ มีดังนี้
ชาวไทย : ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท
ชาวต่างชาติ : ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท
รถยนต์ ๓๐ บาท, ค่ากางเต้นท์ คนละ ๓๐ บาท

เวลา ๖:๐๐ น. จอดรถที่สถานที่จอดรถ ใกล้จุดตรวจที่ ๒  จากจุดนี้ ต้องเดินขึ้นไปยอดภูเรือ ระยะทาง ๗๐๐ เมตร (ถนนลาดยาง) หรือหากนักท่องเที่ยวที่ไม่สะดวกในการเดิน ก็มีรถสองแถวบริการนักท่องเที่ยวคิดค่าบริการ ๑๐ บาท/ท่าน  เมื่อถึงยอดภูเรือ มีป้ายบอกอุณหภูมิ ว่า เช้านี้ อุณหภูมิ ๙ องศาเซลเซียส เป็นอีกจุด ที่นักท่องเที่ยว นิยมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก

ป้ายบอกอุณหภูมิ ยอดภูเรือ ๙ องศาเซลเซียส
เวลา ๖:๑๖ น. เริ่มมีแสงอาทิตย์รำไร ให้เห็นขอบฟ้า

แสงรำไร ภูเรือ

แสงอาทิตย์อ่อนๆ

เริ่มมีแสงอาทิตย์

ริ้วเมฆทอแสงกับดวงตะวัน

เริ่มเห็นดวงตะวัน

ดวงตะวัน ยามเช้า


พระอาทิตย์ทอแสง

พระอาทิตย์เต็มดวง

เก็บตะวัน ณ ภูเรือ

ความรักที่ยอดภูเรือ

เช้าวันใหม่ ที่ภูเรือ

พระพุทธรูปนาวาบรรพต

หลังจากเก็บภาพดวงตะวัน และอิ่มเอิบด้วยบรรยากาศเย็นสบาย ก็เดินขึ้นไปสักการะพระพุทธรูปนาวาบรรพต

พระพุทธรูปนาวาบรรพต เดิมอยู่ที่ "วัดพระญาติ" จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขณะนั้น คือ นายเฉลียว จรัสศรี ได้อัญเชิญมามอบให้ชาวภูเรือ หลังจากนั้น นายจำลอง เทพบรรยง ซึ่งเป็นนายอำเภอในช่วงเวลานั้น พร้อมด้วย พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ลูกเสือชาวบ้าน ชาวภูเรือ ได้อัญเชิญขึ้นบนยอดภูเรือ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อเป็นที่เคารพสักการะบูชา ของชาวภูเรือและชาวเลย


ระหว่างทางเดินขึ้นไปกราบสักการะ



พระพุทธรูปนาวาบรรพต

มณฑปเจดีย์พระพุทธรูปนาวาบรรพต


จากปี พ.ศ. ๒๕๒๐  ล่วงเลยมาถึง ปี พ.ศ. ๒๕๓๘  พระมงคลธรรมภาณี (หลวงปู่มัง มงฺคโล)  (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเทพกุญชรวราราม เมืองลพบุรี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี เป็นองค์ประธานดำเนินการก่อสร้างมณฑปเจดีย์ถวายแด่องค์พระพุทธนาวาบรรพต (ซึ่งประดิษฐาน ณ จุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาติภูเรือ กรมป่าไม้)  พร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ ชาวลพบุรี สร้างมณฑปเจดีย์เพื่อให้เป็นที่มุงองค์พระพุทธรูปนาวาบรรพตและเป็นพุทธบูชา มณฑปเจดีย์นี้ ออกแบบการก่อสร้างโดย นายสรัฐ บุญทรง วิทยาเขตเพาะช่าง เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘  รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามแสนห้าหมื่นบาท


มณฑปเจดีย์ พระพุทธรูปนาวาบรรพต

อัฐิธาตุของหลวงปู่ พระมงคลธรรมภาณี

บริเวณองค์พระพุทธรูปนาวาบรรพต มีอัฐิธาตุพระมงคลธรรมภาณี (หลวงปู่มัง มงฺคโล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี-สระบุรี (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดเทพกุญชรวราราม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ชะตา วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐  มรณภาพ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

อัฐิธาตุ หลวงปู่มัง มงฺคโล


ทางเดินเท้า แบบมีองค์ความรู้ 

จุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก คือ ป้ายยอดภูเรือ  ผมไม่มีโอกาสถ่ายรูปป้าย ช่วงเวลาที่ป้ายว่างเลย ช่วงนั้นมีการต่อคิวประมาณ ๒๐ คิว  ภาพข้างล่างนี้ เป็นจังหวะที่ว่างที่สุด ครับ  ขากลับจะเดินไปที่ท่ารถ สังเกตุเห็นทางเดินปูน เป็นทางเดินที่ให้ความรู้กับเด็กๆ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับชนิดและประเภทของสัตว์ป่าที่เป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย เช่น กระซู่, สมเสร็จ, กระทิง, ควาย, วัวแดง, กวาง, เก้ง, เลียงผา, หมูป่า, กระจง, เสือโคร่ง, เสือลายเมฆ,  ชะมดแผงหางปล้อง, อีเห็นเครือ,  เสือดาว, เสือไฟ, หมูหริ่ง, หมาหริง หมีควาย เป็นต้น ซึ่งมีรูปลักษณะภายนอกของสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ ชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รอยเท้าของสัตว์



ป้ายยอดภูเรือ


กระซู่

เลียงผา

เสือไฟ

รอยเท้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย

สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติภูเรือ มีทั้งหมด ๑๕ จุด
๑. จุดชมวิวเดโช  
๒. ผาซำทองหรือผากุหลาบขาว (จุดชมวิว)
๓. หินเต่า (จุดชมวิว)
๔. ผาโหล่นน้อย (จุดชมวิว)
๕. ยอดภูเรือ (จุดชมวิว)
๖. ผาหญ้า 
๗. ทุ่งหนองดินดำ  (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๘. หมู่บ้านไฮตาก (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๙. ทุ่งกวางตาย (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๑๐. น้ำตกหิน ๓ ชั้น 
๑๑. สวนหินพาลี (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๑๒. ลานสาวเอ้ (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๑๓. ลานหินแตก (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๑๔. ลาดเหมือดแอ (การท่องเที่ยวแบบเส้นทางเดินป่า)
๑๕. น้ำตกห้วยไผ่

สำหรับผู้ที่สนใจพักภายในอุทยานแห่งชาติภูเรือ ทางอุทยานแห่งชาติภูเรือ ก็มีจุดกางเต้นท์ทั้งหมด ๒ จุด ไว้รองรับนักท่องเที่ยว


บรรยากาศ ระหว่างเดินทางกลับไปที่ท่ารถ 

หินพระศิวะ

บริเวณอุทยานแห่งชาติภูเรือ เมื่อ ๔๐๐ ล้านปีก่อน มีลักษณะภูมิประเทศแบบทะเล ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้มีการยกตัวของพื้นที่สูงขึ้น เป็นทิวเขา   ส่วนใหญ่หินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเรือเป็นหินทราย ทำให้ส่วนที่เปราะบาง หลุดร่อนออก ตามการกัดเซาะของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ หรือ ลม ผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบัน จนมาเป็นหินที่มีลวดลาย และรูปร่างที่แปลกตา สวยงามอีกแง่มุมหนึ่ง

หินพระศิวะ

ยามเช้าที่อุณหภูมิ ๑๒ องศาเซลเซียส

อีกจุดที่นิยมถ่ายภาพ ป้ายอุทยานแห่งชาติภูเรือ
 กลับลงมาถึงจุดขึ้นรถด้านล่าง
ค่าบริการขึ้นยอดภูเรือ และข้อปฎิบัติ

จากที่จอดรถไปผาโหล่นน้อย
 จากเวลาที่ผมมีจำกัด ทำให้ไม่ได้ไปท่องเที่ยวในจุดอื่นๆ  จึงเก็บบรรยากาศ โดยรอบมาให้ดู ครับ

ร้านค้า

ไปที่จอดรถ
 ขากลับจากที่จอดรถ แวะที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ สักพัก

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ อุณหภูมิ ๑๐ องศา

ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเรือ ป้ายบอกทางและเวลา

แผนที่การท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติภูเรือ

กลับมาที่พัก ในช่วงเวลาประมาณ ๘:๓๐ น. ทันสำหรับอาหารเช้า พอดี ครับ 😄  เมื่ออิ่มท้องเก็บสัมภาระเรียบร้อยก็ออกเดินทางไป วัดป่าห้วยลาด ก่อนกลับกรุงเทพฯ  ก่อนออกสู่ถนนใหญ่ที่ ด้านหน้าเป็นป้ายทางเข้าอุทยานแห่งชาติ ก็เห็นป้ายที่จัดเทศกาลต้นคริสต์มาสภูเรือ ครั้งที่ ๕




ขอบคุณที่ติดตาม ครับ 😄