เที่ยวไหนดี? ... น่าน ทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน ทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ 😀 

ตื่นเช้าจากที่นอน ด้วยเสียงนาฬิกาปลุก ตี ๔ ตรง รีบแต่งตัวออกเดินทางจาก  โรงแรมสบายน่าน  ในเวลา ตี ๔ ครึ่ง  ออกจากโรงแรมเลี้ยวซ้าย จะเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๐ ขับตามเส้นทางไป ๓.๑ กิโลเมตร จะเป็นสามแยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนยันตรกิจโกศล (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑)  ไป ๑๙.๘ กิโลเมตร จะพบสามแยก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๑๐๒๖ ไป ๑.๑ กิโลเมตร จะพบสี่แยก ทางหลวง ๑๐๒๖ ตัดกับ ซอย เทศบาล ๔ ให้เลี้ยวขวา มุ่งหน้าไป ๓๓.๙ กิโลมเตร เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๓ ขับไป ๑๖ กิโลเมตร  จะเข้าสู่อุทยานแห่งชาติ ศรีน่าน  ลักษณะทางขึ้นเขา ปกติ รถเก๋งขึ้นได้สบายๆ ครับ 😄 ถึงลานหน้า ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  ในวันที่ไป เจ้าหน้าที่ปิดทางไม่ให้ขึ้นไปยอดดอย เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักกางเต้นท์ หากขึ้นไปจะเป็นการรบกวนนักท่องเที่ยว ที่ยังหลับอยู่

หลังจากจอดรถที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางขึ้นดอยเสมอดาว เสียค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ ดอยเสมอดาว  ซึ่งอัตราค่าเข้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน สำหรับนักท่องเที่ยว ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท   ระยะทางเดินเท้าทั้งหมดถึงยอดดอย  ๖๐๐ เมตร แนวชัน  เดินเรื่อยๆ ไม่ค่อยเหนื่อย   เมื่อมาถึงยอดดอยเวลา เป็นเวลาตี ๕ ครึ่ง บนยอดดอย มีคนจับจองที่นั่งริมผา เรียบร้อยเกือบทุกจุดครับ อากาศเย็นสบายในฤดูหนาว เดือนธันวาคม ประมาณ ๗ องศา  ใจก็ลุ้นว่าจะเห็นทะเลหมอกไหม?

บนดอยเสมอดาว
ดอยเสมอดาว ตั้งอยู่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๑๖ สายนาน้อย-ปางไฮ ตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่หนึ่งที่อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน  ซึ่งอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีพื้นที่ครอบคลุม  อำเภอนาน้อย อำเภอนาหมื่น และอำเภอเวียงสา  สภาพทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติศรีน่านเป็นเทือกเขา สลับซับซ้อนที่เรียงตัวแนวเหนือจรดใต้ขนานกัน ทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออก แบ่งพื้นที่ออกเป็น ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุดยาวกว่า ๖๐ กิโลเมตร  ทำให้สองฝั่งแม่น้ำน่าน  อุดมไปด้วยป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง   บรรยากาศความสวยงามขแงป่าไม้เปลี่ยนสี สามารถพบเห็นได้ในช่วงเดิอนกุมภาพันธ์ของทุกปี  ในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน นี้มีสัตว์ป่าหายาก หลากหลายชนิด เช่น หมาป่า หมาใน กวาง เสือดาว เสือดำ หมี  นกยูงหลายฝูง ช้างป่า วัวแดง และกระทิง ซึ่งจะอพยพไปมาระหว่างเขตติดต่อประเทศไทย-ลาว

ดอยเสมอดาว เป็นพื้นที่ลานกว้างตามสันเขาเหมาะสำหรับการดูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพักผ่อนค่ำคืนในบรรยากาศฤดูหนาว และการดูดาว   พื้นที่แห่งนี้ จะเปิดให้มีการเข้าพักเต้นท์นอน ประมาณช่วงเดือน ตุลาคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี  นอกเหนือจากเวลาดังกล่าว ทางอุทยานจะปิด เพื่อให้ป่ามีการฟื้นฟูปรับสภาพตามธรรมชาติของป่า

ป้ายก่อนเดินทางขึ้นยอดดอย (เห็นเมื่อมีแสงอาทิตย์)
เผ้ารอ อยู่ครู่ใหญ่ พระอาทิตย์เริ่มทอแสงแย้มออกมา เป็นสีส้ม สีฟ้า เห็นทะเลหมอกหนาตา อยู่ ช่วงแรกเริ่มอาจจะถ่ายรูปออกมาแล้วไม่เด่นชัดนัก  เมื่อแดดออกพอสมควร ก็จะเห็นทะเลหมอกชัดเจนขึ้น

ช่วงแรกเริ่ม ยามพระอาทิตย์ทอแสง

ทะเลหมอกยามเช้า ที่ดอยเสมอดาว 
 ระหว่างถ่ายรูป ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ผาหัวสิงห์อยู่ที่ใด จนมาถ่ายรูปในแบบพาโนรามา จึงเห็นมุมซ้ายของภาพเป็นหน้าผา ที่เมื่อมองไกลๆ ก็จะดูคล้ายหัวของสิงโต ซึ่งเมื่อดูด้วยตาก็ประเมินว่า ไม่น่าจะไกล แค่ประมาณ ๒ กิโลเมตร  หากท่านใดที่สนใจจะเดินทางขึ้นไป ก็ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ  เพื่อนำทางขึ้นไปบนยอดผา  ระหว่างเดินทางขึ้นผาหัวสิงห์จะมีต้นจันทน์ผา เมื่อเรายืนบนผาสิงห์ ในวันฟ้าโปร่ง สามารถมองเห็นอำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และแม่น้ำน่าน ได้อย่างชัดเจน

ผาหัวสิงห์ และทะเลหมอกที่ดอยเสมอดาว
 เมื่อแดดออก เห็นเต้นท์ต่างเรียงรายอย่างชัดเจน  ผู้คนในเต้นท์ต่างตื่นกันเกือบหมด ทุกคนเริ่มปฎิบัติภารกิจประจำวันที่ห้องน้ำส่วนรวม บ้างเริ่มเก็บของ เริ่มทยอยกันกลับ

เต้นท์นอนเรียงราย ระหว่างทางขึ้นจุดชมวิวบนดอยเสมอดาว

เดินทางกลับลงมา ระหว่างทางมี จุดพัก เหมือนจุดชมวิว อีกแห่ง ที่มีระเบียงยื่นออกไปด้านนอกเล็กน้อย  ซึ่งเป็น อีกจุดหนึ่งที่สามารถถ่ายภาพทะเลหมอกได้ ในแนวที่อยู่สูงกว่าทะเลหมอก เล็กน้อย  แต่เนื่องจากลงมาค่อนข้างสาย (๗ โมงครึ่ง )  ภาพที่ได้ จะเป็นทะเลหมอกอย่างเดียว ส่วนถ้ามีนายแบบ นางแบบ ถ่ายออกมาจะมืดหมด 😩
ศูนย์บริการนักท่องเที่ย;

ข้อมูลการท่องเที่ยวของศูนย์บริการแห่งนี้ ทำให้ทราบว่า ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว อีก ๔ แห่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติศรีน่าน คือ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ผาชู้) ห่างจากศูนย์ฯ แห่งนี้ ๔ กิโลเมตร,  แก่งหลวง ห่างจาก ศูนย์ฯ ๑๔ กิโลเมตร, เสาดิน (นาน้อย) และคอกเสือ ห่างจากศูนย์ ๒๔ กิโลเมตร, ปากนาย ห่างจาก ศูนย์ฯ ๖๗ กิโลเมตร

สำหรับ แก่งหลวงแม่น้ำน่าน ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว  ๑๔ กิโลเมตร ตั้งอยู่ติดถนนสายนาน้อย-ปางไฮ (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๘๓) เป็นสถานที่จุดชมทิวทัศน์  สามารถล่องเรือ ล่องแพ ชมธรรมชาติสองฝั่งแม่น้ำ ที่เห็นทิวทัศน์ เกาะแก่ง โขดหิน หาดทราย ที่ได้ร้อยเรียงเป็นลำนำอันงดงามจากธรรมชาติ นักท่องเที่ยวสามารถลงเล่นน้ำในบริเวณแก่งหลวงได้ในช่วงหน้าแล้ง ในเดือนเมษายนเท่านั้น  โดยจุดเด่นในบริเวณแก่งหลวง คือ ผาง่าม หน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งโดดเด่นอยู่กลางป่าเขาที่เขียวขจี ผาขวาง หน้าผาขนาดใหญ่ ตั้งขวางอยู่กลางแม่น้ำน่าน มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์


พิกัด GPS ดอยเสมอดาว :  18.375424, 100.826820

แผนที่ ดอยเสมอดาว :



สำหรับท่านที่จองที่พัก ในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน สามารถ กดลิงค์ที่นี่  ซึ่งจะเปิดให้จองตามช่วงเวลาที่อุทยานฯ กำหนดเปิดพื้นที่ แล้ว นะครับ  เมื่อเข้าไปแล้วต้องเลือก อุทยานแห่งชาติภาคเหนือ หรือพิมพ์ข้อความอุทยานแห่งชาติศรีน่าน แล้วเลือกวันเข้าพัก และประเภทที่พัก ก็จะมีขึ้นมาว่า ว่างหรือไม่? ครับ

สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ ทางอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ได้มีประกาศ ปิดการท่องเที่ยวและพักแรมในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ๒ แห่ง คือ แก่งหลวงแม่น้ำน่าน ปิดตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม - ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ และลานกางเต้นท์ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์ ปิดตั่งแต่วันที่ ๑ มีนาคม - ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐

เก็บบรรยากาศ ทะเลหมอกยามเข้า มาให้ท่านชมกัน  หากท่านมีโอกาส มาเมืองน่าน  สถานที่แห่งนี้ ก็ยังเป็นสถานที่สวยงาม ในฤดูหนาว ที่น่ามาเที่ยวกัน ครับ   เช้าๆ ทะเลหมอก กับอุณหภูมิ ๗ องศา  


เมื่อทุกอย่างพร้อม การเดินทางลำดับต่อไป คือ เสาดินนาน้อยและคอกเสือ  ก็เริ่มขึ้น ... ล้อหมุน ...  🚗



ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด ๗ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด   ๗ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร  😀 


สุดปลายถนน ที่ข่วงเมืองน่าน เป็นสี่แยกตัดกันระหว่างถนนผากองกับถนนสุริยพงษ์ อยู่เยื้องฝั่งขวาของวัดภูมินทร์    หลังจากที่วัดภูมินทร์ปิด (ประมาณ ๑ ทุ่ม ๔๐ นาที)  ก็มาลุ้นกันว่า วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารนี้ จะปิดหรือไม่ จึงตัดสินใจข้ามไป  ก็พบว่า วัดยังคงเปิดให้ประชาขนเข้าสักการะได้   วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารนี้   ตั้งอยู่ที่ ๘๙   มหาพรหม ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน  อยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน  (อยู่ฝั่งขวาของวัด เมื่อตัวเรายืนหันหน้าออกประตูวัด)   แต่เดิม วัดชื่อ  วัดกลางเวียง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๔๙ โดยเจ้าผู้ครองนครน่าน รัขสมัยพญาภูเข่ง (พ.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๖๐) กษัตริย์น่าน ในราชวงศ์ภูคา ลำดับที่ ๑๓  เป็นยุคที่อาณาจักรน่านรุ่งเรือง

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

เมื่อเดินเข้าไป จะพบพระวิหารทางเบื้องหน้า และหอธรรมล้านนา-หอพระไตรปิฏกทางด้านขวามือ  พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตามหลักสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ด้านหน้าพระวิหาร มีสิงห์คู่ซ้ายและขวา  ยืนตรงเชิงบันได  มีทางเข้า ๓ ทาง  ประตูกลางเป็นประตูใหญ่ และประตูด้านซ้ายและขวาเป็นประตูเล็ก มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก ๒ ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในพระวิหารกว้าง โล่ง โปร่ง  มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่   จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร ๑.๕๐  เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

พระวิหารหลวง และ  หอธรรมล้านนา-หอพระไตรปิฏก


ประตูใหญ่ (ประตูกลาง)

พระประธานในวิหารหลวง

พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลักษณะพระเศรียร โดยรวมทั้งหมด คล้ายกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนอาจจะ สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือช่างกลุ่มเดียวกัน   มีส่วนที่แตกต่างออกไปคือ ส่วนพระวรกาย เปลวรัศมี และ ชายจีวร  ที่มีลักษณะการได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย

หลังจากสักการะพระประธาน แล้ว ก็ไปที่อาคารข้างๆ คือ หอธรรมล้านนา-หอพระไตรปิฏก เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมนี (พระพุทธรูปปางลีลา)  ลักษณะของหอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐโบกปูนยกพื้นสูง มีสิงห์ยืนอยู่ด้านหน้า ตรงเชิงบันใดด้านละ ๑ ตัว ตั้งเสารับหลังคาเชิงชายแทนผนัง และก่อผนังปิด ทำเป็นห้องไว้พระธรรม และพระไตรปิฏก ตรงแนวเสาที่รับคาน มีทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูทางเดียว บานประตูสลักเป็นรูปเทวดา ๒ องค์ และมีลายปูนปั้น เป็นรูปยอดปราสาท ทำเป็นชั้นติดหน้าต่างด้านละ ๓ บาน ผนังด้านหลังปิดทึบ ด้านนอกสองข้างทาง ระหว่างเสารายและผนัง เป็นทางเดินถึงกันได้ตลอดโดยรอบ อาคารสูงหลังคาช้อน ๓ ชั้น ไม่มีมุขลด ที่หน้าบัน ใช้แผ่นไม้เรียงต่อกัน เป็นแผ่นๆ ประดับลายปูนปั้น เป็นรูปกนกล้อพระยาครุฑ ระหว่างช่วงเสาประดับด้วยแผ่นไม้จำหลัก ลายกนก เป็นรูปสามเหลี่ยม สลับลายพุ่มข้าวบิณฑ์คว่ำ และรูปพระยาครุฑห้อยลงมาตามแบบสถาปัตยกรรมของล้านนา ภายในมีลักษณะส่วนกว้างแคบ ส่วนยาวลึก เข้าไปภายใน และส่วนสูงชะลูดขึ้นไปมาก ใช้เป็นที่เก็บ พระไตรปิฏก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นใบลาน จารอักษรตัวธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นวิหาร

ทางเข้าหอธรรมล้านนา-หอพระดตรปิฏก

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางลีลา มีเนื้อทองคำ ๖๕ %  ความสูงขององค์พระ ๑๔๕ เซ็นติเมตร  สร้างเมื่อวันพุธ เดือน ๖ เหนือ พ.ศ. ๑๙๖๙  สร้างโดยพญางั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งเป็นยุคสมัยอาณาจักรน่าน รุ่งเรืองปกครองตนเอง  (พ.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๖)  ภายหลังได้มีการทำยอดพระโมฬ เสริมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ หนัก ๔๙ บาท

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

เมื่อเดินไปด้านหลังหอธรรมล้านนา-หอพระไตรปิฏก จะเห็นพระธาตุช้างค้ำ ในยามค่ำคืน  องค์เจดีย์พระธาตุช้างค้ำ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบสุโขทัย ลักษณะมาจากเจดีย์ทรงลังกา พระธาตุเจดีย์ สร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน ๓ ชั้น กว้างด้านละ  ๙ วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปปั้นช้างปูนปั้น โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน (แบบครึ่งตัว) ประดับอยู่โดยรอบ เหมือนเป็นฐานรองรับในลักษณะค้ำองค์เจดีย์ มีด้านละ ๖ เชือก รวมทั้งสิ้น ๒๔ เชือก ช้างแต่ละตัว  เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน ๓ ชั้น และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด    พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เรื่อยมา จนปัจจุบัน มีการหุ้มองค์เจดีย์ด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ 

องค์เจดีย์พระธาตุช้างค้ำ (ยามค่ำคืน)

ออกจากวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร แล้วก็เดินเข้าสู่ถนนคนเดินกลางคืน วัดภูมินทร์ ต่อ เพื่อที่จะเดินทางกลับ ระหว่างการเดินทางไปขึ้นรถ เห็นลานใน ช่วงเมืองน่าน เริ่มว่าง จะเริ่ม ดินเนอร์ ในบรรยากาศเมืองน่าน ในค่ำคืนนี้ ครับ 😄  หลังจากเสร็จภารกิจต่างๆ  ก็เดินทางกลับไป โรงแรมสบายน่าน เพื่อที่จะเตรียมตัว ออกเดินทางไป ดอยเสมอดาว ในเช้าวันพรุ่งนี้ ใจก็อยากจะเห็นทะเลหมอก และที่ดอยเสมอดาวนี้ ก็เป็นเพียงจุดเดียวในเมืองน่าน จะเห็นทะเลหมอกได้ง่ายที่สุด  คงต้องลุ้นครับ เพราะการจะมีทะเลหมอก ขึ้นอยู่กับปัจจัย หลายๆอย่าง ของสภาพอากาศ  ที่แน่ๆ  คือ ต้องมีความชื้นสูงพอสมควร จึงจะเกิดได้ ครับ

พิกัด GPS วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร :   18.776332, 100.772140

แผนที่วัดช้างค้ำวรวิหาร :  




ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด ๖ วัดภูมินทร์ ถนนคนเดินกลางคืน ช่วงเมืองน่าน สนามหลวงเมืองน่าน

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด   ๖ วัดภูมินทร์ ถนนคนเดินกลางคืน ช่วงเมืองน่าน สนามหลวงเมืองน่าน 😀 


หลังจากเข้า พักที่  โรงแรมสบายน่าน  พักผ่อนสักเล็กน้อยแล้ว ยามค่ำคืน ก็จะไปเดินที่ถนนคนเดิน ในจังหวัดน่าน  ทางโรงแรมก็แนะนำว่า ในอำเภอเมืองก็มี บริเวณวัดภูมินทร์  ผมก็เดินทางออกจากโรงแรมไปประมาณสัก หกโมงเย็นกว่าๆ  เมื่อไปถึงประมาณหนึ่งทุ่ม  ตลาดยังคึกคัก อยู่  หากที่จอดรถบริเวณรอบๆ ถนนคนเดิน ก็ได้ไม่ไกล จากบริเวณนั้น สักเท่าไร   ถนนคนเดิน แห่งนี้ ตั้งอยู่ถนนผากอง ถนนสองเลน   เริ่มที่สามแยก (ถนนผากอง เลี้ยวไปทางถนนอชิตวงศ์) บริเวณข้างวัดภูมินทร์และช่วงเมืองน่าน สิ้นสุดที่สี่แยกตัดกันระหว่างถนนผากองกับถนนสุริยพงษ์   ความยาวของถนนคนเดินที่จัดงานประมาณ ๒๐๐ เมตร  

จากเส้นทางที่ใช้ เริ่มที่โรงแรมสบายน่าน  เลี้ยวขวา แล้วขับตามเส้นทางตลอด ไป ๓ กิโลเมตร ก็จะพบสามแยก ที่เป็นจุดเริ่มต้น ของถนนคนเดินกลางคืน น่าน หรือ Night Food Market  ซึ่งแถวๆ นั้น ที่จอดรถจะค่อนข้างแน่น ซึ่งคงต้องออกมาจอดในถนนถัดไป จะสะดวกกว่า 

จุดเริ่มต้นถนนคนเดินกลางคืน  น่าน
ยามค่ำ กับอากาศในช่วงหน้าหนาวก็ ทำให้เดินได้อย่างเย็นสบายๆ  ร้านค้าที่มาขาย ก็จะมีร้านประเภทอาหาร เครื่องดิ่ม ขนม ร้านประเภทของที่ระลึก ของท้องถิ่น เช่น ผ้าลายไทย ผ้าพันคอ ผ้าถุงแบบไทยประยุกต์ และหลากหลาย สินค้านานาภัณฑ์   เดินเพลินไปเรื่อยๆ  ครึ่งรอบเห็นลานกว้าง หน้าวัดภูมินทร์ เป็นลานกว้างมาก จัดเป็นที่กิจกรรมปูเสื่อ ให้นักท่องเที่ยวใช้พื้นที่เป็นที่รับประทานอาหาร โดยซื้ออาหารจากถนนคนเดิน เข้ามานั่ง สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกนั่งพื้น ก็จะมีโต๊ะ เก้าอี้ ให้ แต่จะอยู่บริเวณ รอบๆ ลาน  สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารเสร็จ ก็นำออกมาทิ้ง ซึ่งจะมีจุดรองรับไว้  ทำให้สามารถนั่งเวียนได้เรื่อยๆ   มีการแสดงดนตรี ประกอบ เป็นเพลงเบาๆ  ในวันที่ไป มีร้อง เพลง "ยากยิ่งนัก"  ของวงชาตรี  ที่มีเนื้อร้องว่า "ความจริงใจที่มี ดั่งราตรีมีเพียงแสงจันทร์ มีดังแสงตะวันมั่นขอบฟ้า....."  ส่วนใหญ่ เพลงที่ร้อง เป็นแนวเพลงเบาๆ เย็นๆ  

ข่วงเมืองน่าน มีหลากหลายชื่อ บ้างเรียก ข่วงหลวง,  ข่วงแก้ว หรือสนามหลวง  เป็นลานโล่งขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ตั้งอยู่ระหว่างคุ้มหลวง (หอคำ) และวัดหลวงกลางเวียง (วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร)  มีวัดหัวข่วงอยู่ทางทิศเหนือ และวัดภูมินทร์อยู่ทางทิศใต้  สถานที่แห่งนี้ เคยใช้ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี ประเพณีต่างๆ  ปัจจุบันข่วงเมือง คือพื้นที่ด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน (หอคำในอดีต) เป็นพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว  บริเวณช่วงเมืองได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒

ช่วงเมืองน่าน ยามค่ำคืน

เดินเข้ามาในช่วงเมืองน่าน เห็น โบสถ์วัดภูมินทร์ ยังเปิดไฟอยู่ จึงเดินเข้าไป ภายในบริเวณวัด (ผ่านช่วงเมืองน่าน)  เดิมวัดภูมินทร์ ชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓ บ้านภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน  วัดภูมินทร์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๘  ในสมัยของเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ (เจ้าผู้ครองนคร น่าน) สร้างในเขตพระนคร  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๑๓๙  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ (๒๗๑ ปี ให้หลัง) สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดช  มีการบูรณะวัดภูมินทร์ ครั้งใหญ่  ใช้เวลานาน ๗ ปี 

โบสถ์วัดภูมินทร์ น่าน

วัดภูมินทร์ มีพระอุโบสถที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด ๆ เป็นอาคารทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ดูเหมือนมีพญานาคขนาดใหญ่ ๒ ตัว เทินพระอุโบสถไว้กลางลำตัว ภายในประดิษฐพระพุทธรูปปางมาวิชัย ๔ องค์ หันพรพักตร์ออก ทางประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องปฤษฏาค์ (ด้านหลัง) ชนกัน ประดับนั่งบนฐานซุกชี   รัฐบาลไทยสมัยรัชกาลที่ ๘ เคยพิมพ์รูปพระอุโบสถวัดภูมินทร์ลงในธนบัตรใบละ ๑ บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่  ๒

พระพุทธรูป ปางมารวิชัย ๔ องค์

พระอุโบสถ นี้ใช้เป็นทั้ง พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน โดยใช้อาคารในแนว ตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหาร และอาคารแนว เหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ  บานประตูแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาของไม้ประมาณ 4 นิ้วสลักเป็นลวดลายเครือเถา ที่ทั้งดอกและมีผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด ฝีมือช่างเมืองน่าน

พระพุทธรูป จตุรทิศ ปางมารวิชัย

เมื่อเข้ามาภายในโบสถ์ มีนักท่องเที่ยวอยู่จำนวนหนึ่ง  หลังจาก กราบสักการะพระพุทธรูปจตุรทิศ เรียบร้อย รู้สึกได้ว่า ภายในโบสถ์ อากาศเย็น  มองดูรอบๆ เห็นร่องรอย ความทรุดโทรมตามกาลเวลาของจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนรอบด้านในพระอุโบสถ ซึ่งได้เขียนขึ้นในช่วงการบูรณะวัดที่ใช้เวลา ๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๗)  เรื่องราวสื่อถึงเรื่องชาดก  วิถีชีวิตตำนานพื้นบ้าน การติดต่อกับชาวต่างชาติ และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต  บางส่วนก็มีการเลือนหายไปของภาพ จนมองเห็นแต่เนื้อปูน  เมื่อได้ดูโดยรอบ ก็มาสะดุด ที่ภาพหนึ่งที่มีผู้คนมารายล้อมรอถ่ายภาพ คือ ภาพผู้ชายกำลังกระซิบสนทนากับผู้หญิงคนหนึ่ง  ซึ่งเป็นภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน"  จัดเป็น Highlight และ Landmark ของจังหวัดน่าน  หลายๆ คน  ยกย่องให้เป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"

จิตรกรรมฝาผนัง ภายในโบสถ์ วัดภูมินทร์ อายุ ๑๕๐ ปี
สาเหตุที่งานจิตรกรรมฝาผนังนี้ได้รับการยกย่อง  เนื่องจากเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบทางด้านองค์ประกอบและอารมณ์ ทั้งยังมีมุมมองและแนวคิดที่ทันสมัย รู้จักนำสีสันมาใช้ เช่น สีแดง ฟ้า ดำ น้ำตาลเข้ม และมีวิธีลงฝีแปรงคล้ายภาพวาดสมัยใหม่  สันนิษฐานว่าสร้างสรรค์ โดยศิลปินชื่อ หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อ 

ปู่ม่านย่าม่าน

ภาพ "ปู่ม่านย่าม่าน"  แสดงให้เห็นรูปของชายหญิงคู่หนึ่ง โดยบุรุษใช้มือข้างหนึ่งเกาะไหล่สตรีแล้วมืออีกข้างหนึ่งป้องปากคล้ายกับกระซิบกระซาบที่ข้างหูสตรีผู้นั้นด้วยนัยน์ตากรุ้มกริ่มแฝงไปในเชิงรักใคร่  บุรุษในภาพสักลายตามตัว ขมวดผมไว้กลางกระหม่อมพร้อมผ้าพันผมแบบพม่า นุ่งผ้าลุนตะยา  ส่วนสตรีในภาพแต่งกายไทลื้อเต็มยศ  การแสดงท่าทางกระซิบหยอกล้อดังกล่าวมิใช่การเล้าโลมของคู่รักหนุ่มสาว หากแต่เป็นการแสดงความรักของคู่สามีภรรยา 

หลายๆ คู่ที่มา ก็แสดงท่ากระซิบให้เหมือนกับในภาพ และมีปูม่านย่าม่าน เป็นองค์ประกอบด้านหลังของภาพ  วันนี้ประตูโบสถ์ปิด เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม ๔๐ นาที   ออกเดินตามถนนคนเดินต่อให้ครบรอบ ที่สุดถนนคนเดินกลางคืน เป็นสี่แยก มี วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ก็แวะเดินเข้าไปสักการะ หลังจากนั้น ก็มาเดินต่ออีกครึ่งรอบ เพื่อให้ครบรอบ เสื้อยืดและของที่ระลึกจะมีภาพ ปู่ม่าน ย่าม่าน  เพื่อให้นักท่องเที่ยวซื้อไปเป็นสัญญลักษณ์ว่า ได้มาถึงเมืองน่าน แล้ว   เกือบจะครบรอบ มองเข้าในลาน เห็นว่าบริเวณช่วงเมืองน่าน เริ่มว่างแล้ว ผมก็ทำการจับจ่าย เริ่ม ดินเนอร์ ในบรรยากาศเมืองน่าน ครับ 😄

ภายในวัดภูมินทร์ ยังมี หอไตร ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ รูปทรงอาคารสี่เหลี่ยมทรงสูงสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีบันใดภายในตัวอาคาร ชั้นบนมีระเบียง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา มีความสวยงาม 



เวลาก็ล่วงเลย มา ๓ ทุ่มกว่าและก็อิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับไปที่พัก   โรงแรมสบายน่าน  เพื่อเตรียมตัว พิชิต ดอยเสมอดาว และลุ้นว่า พรุ่งนี้ จะเห็นทะเลหมอก หรือไม่? ...


พิกัด GPS วัดภูมินทร์ :   18.774554, 100.771618

แผนที่ วัดภูมินทร์ น่าน




ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... น่าน อ.เมือง โรงแรมสบายน่าน

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน อ.เมือง โรงแรมสบายน่าน  😀 


จาก  วัดมิ่งเมือง จ.น่าน ก็ตระเวนหาที่พัก จนมาได้ที่พัก โรงแรมสบายน่าน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดมิ่งเมืองเพียง ๓.๕ กิโลเมตร สำหรับการเดินทาง เมื่ออกจากวัดมิ่งเมือง เลี้ยวขวา เข้าสู่ถนนสุริยพงษ์ ตรงไป ๒๙๐ เมตรจะพบสี่แยก ตัดระหว่างถนนสุริยพงษ์และถนนผากอง ให้เลี้ยวขวา ขับตามเส้นทาง ไป ๓.๒ กิโลเมตร มีผ่านสะพานข้ามแม่น้ำน่าน  จะถึงโรงแรมสบายน่าน


โรงแรมสบายน่าน เป็นโรงแรมเปิดใหม่ อาคาร ๒ ชั้น จำนวนห้องพักทั้งหมด ๑๔ ห้อง มี ๓ แบบ คือ ห้องพักแบบเตี่ยงเดี่ยว ควีนไซส์, ห้องพักแบบเตียงคู่ และห้องพักแบบสามท่าน (เตียงคู่ และเตียงเดี่ยว)  โรงแรมอยู่ติดถนนสายเล็ก  ไม่ค่อยพลุกพล่านเท่าใดนัก  เหมาะสำหรับการพักเพื่อที่จะเดินทางต่อ และจุดที่ตั้งของโรงแรม ก็นับว่าไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก  เปิดประมาณปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๘

อาคารที่พักโรงแรมสบายน่าน

โรงแรมสบายน่าน (SabayNan Hotel) ตั้งอยู่ที่ ๑๙๙ หมู่ ๑ ต.ม่วงตื้ด อ.ภูเพียง, ฝายแก้ว, จังหวัดน่าน  เมื่อเช็คอินเป็นที่เรียบร้อย ก็ทำการขนย้ายสัมภาระต่างๆ เข้าห้องพัก ซึ่งได้ห้องชั้นบน  เปิดแอร์เย็นฉ่ำ  เวลาตอนนี้ ที่มาถึงก็ประมาณ บ่าย ๔ โมงเกือบๆ ๕ โมง เห็นจะได้  นอนเล่นสักพัก  ลักษณะการตกแต่งในห้องเป็นแบบเรียบๆ เน้นเป็นปูนเปลือยแบบขัดเงา ออกโทนสีเทา คลาสสิค   หน้าต่างของห้องพักออกแบบให้ดูแปลก เหมือนอยู่ในห้องแคปซูล ก็แปลกตาไปอีกแบบ ครับ 

ห้องพักแบบเตียงเดี่ยว
 พื้นที่ห้องน้ำกว้างมาก  อาจจะเนื่องจากเน้นให้ห้องพักเห็นวิวธรรมชาติรอบๆ  และไม่เสียพื้นที่ของการนอน ทำให้ห้องน้ำมาอยู่บริเวณทางเดินภายในอาคาร  เวลาใครไป ใครมาก็อาจจะได้ยินบ้าง เบาๆ

ห้องน้ำ
เฟอร์นิเจอร์
เริ่มคิดโครงการท่องเที่ยวต่อ  เท่าๆ ที่ดูข้อมูลประชาสัมพันธ์ของทางโรงแรม ก็มีแนะนำหลากหลายสถานที่ ขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยวว่าชอบแนวไหน  ส่วนผม ในค่ำคืนนี้ ก็อยากจะไปเดิน ถนนคนเดิน หรือแหล่งช็อปปิ้ง ยามค่ำคืน  ได้รับคำแนะนำว่าให้ไป ที่ แถวๆ วัดภูมินทร์  

หลังจากพักผ่อน สักเล็กน้อย เวลาล่วงเลยไป ประมาณ ๖ โมงเย็น แรงแอคทีฟอยากช็อปปื้ง ก็พุ่งทะยาน บวกกับความหิว สักเล็กน้อย ทำให้ล้อหมุน ออกเดินทางได้ ไปที่ถนนคนเดิน วัดภูมินทร์, วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร  และกลับมาถึงประมาณ ๔ ทุ่ม  ไหนๆ ก็มาถึงจังหวัด น่าน แล้ว  สถานที่ๆ หนึ่งที่ขอแนะนำ คือ ดอยเสมอดาว เป็นภูเขาที่สูง พอที่จะสามารถเห็นทะเลหมอก ได้  แต่เท่าที่ถามทางพี่เจ้าของโรงแรม ก็บอกว่า ช่วงนี้ ไม่ค่อยมี  และสำหรับเส้นทางก็ได้รับคำแนะนำว่า เส้นทางไม่ชัน รถเก๋ง สามารถขึ้นได้ สบายๆ  

หลับสบายไป หนึ่งคืน เช้าวันใหม่ นาฬิกาปลุกดัง ... เป็นเวลา ตี ๔  ตั้งใจไปดอยเสมอดาว แล้ว ก็รีบลุกขึ้นแต่งตัวออกเดินทาง เพื่อลุ้น ดูว่า .... จะเห็นทะเลหมอก หรือไม่?  การเห็นทะเลหมอก ก็ขึ้นอยู่กับความชื้น ด้วยครับ ส่วนใหญ่พื้นที่เขา ที่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่มีลมแรงจัด ก็จะมีโอกาสได้เห็นมากกว่าที่อื่นๆ 

ขากลับจากดอยเสมอดาว ผ่าน เสาดินนาน้อย และ วัดพระธาตุเชียงของ จ.น่าน  เมื่อกลับมาจาก ดอยเสมอดาว ทางพี่เจ้าของ ก็เตรียมอาหารเช้า ไว้รับรอง เป็นไข่กระทะ  สามารถเลือกได้ว่า แบบสุก หรือแบบมะตูมหน่อยๆ  ภายในไข่กระทะ ก็มีหมูยอ, กุนเชียง, ปูอัด, หมูสับ และผัก  รับมาก็เติมาสีสรร และรสชาติ เพิ่มเติม ตามความชอบ  และแล้ว ก็... เรียบร้อย  สำหรับรายการอาหารอื่นๆ  หากไม่รับประทานไข่กระทะ ก็มีข้าวต้มเครื่อง ไก่ หรือ หมูสับ แล้วแต่วัน, ผลไม้, ขนมปัง, กาแฟ  เมื่ออิ่มท้อง ก็พักผ่อน อาบน้ำ เรียบร้อย ก็ไปไหว้พระ วัดถัดไป  คือ วัดพระแช่แห้ง จ. น่าน

ไข่กระทะ (อาหารแนะนำ 😄)

ไข่กระทะ ปรุงรส
ว่าจะพักที่นี่ อีกสักคืน แล้ว พรุ่งนี้ ค่อยเดินทางกลับ ครับ

พิกัด GPS  โรงแรมสบายน่าน  :  18.748413, 100.776040

แผนที่ โรงแรมสบายน่าน



ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พัก โรงแรมสบายน่าน สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  ครับ

เที่ยวไหนดี? ... น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด ๕ วัดมิ่งเมือง

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด   ๕ วัดมิ่งเมือง  😀 

ออกจาก วัดศรีพันต้น จ.น่าน  ถ้าเลี้ยวซ้ายไป ๒๐ เมตรแล้วพบ สี่แยกไฟแดง ก็ตรงขึ้นไป หากออกไปอีกประตู ให้เลี้ยวขวาไป ๒๐ เมตร แล้วพบสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย เมื่อผ่านสี่แยกไฟแดง  เข้าสู่ถนนยันตรกิจโกศล มุ่งหน้าไป ๓๕๐ เมตร (มีผ่านสี่แยก ตัดกันระหว่าง ถนนสุริยพงษ์กับ ถนนอริยะวงศ์ จะพบวัดมิ่งเมือง ทางด้านขวามือ

ป้ายวัดมิ่งเมือง จ.น่าน
วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๖ ถนนสุริยพงษ์ บ้านมิ่งเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ตั้งแต่อดีตกาล น่าน เป็นนครอิสระที่รุ่งโรจน์ ปกครองตนเองในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงปี พ.ศ. ๑๙๙๓   ภายหลังได้ขึ้นตรงต่ออาณาจักรลานนา (พ.ศ. ๑๙๙๓-๒๑๐๑), อาณาจักรพม่า (พ.ศ. ๒๑๒๓-๒๓๒๙) และกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๕๓๕- ๒๔๗๔ (สิ้นสุดการปกครองแบบเจ้าผู้ครองนคร))

ช่วงการปกครองรัตนโกสินทร์ (ยุคต้น)  ยังเป็นช่วงที่เจ้าผู้ครองนครน่าน มี ๒ ฝ่าย คือ พระยามงคลวรยศเป็นเจ้าเมืองขึ้นกับฝ่ายกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา และ เจ้าอัตถวรปัญโญ (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า ปี พ.ศ. ๒๓๔๗) เป็นเจ้าเมืองขึ้นกับฝ่ายพม่าตั้งอยู่ที่เมืองเทิง  ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙  เจ้าอัตถวรปัญโญ  ไปหา พระยามงคลวรยศที่เมืองท่าปลา ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารในกรุงเทพมหานคร พระยามงคลวรยศ มีความยินดี จึงมอบบ้านเมืองให้เจ้าอัตถวรปัญโญ ทรงปกครองนครน่าน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๙ - ๒๓๕๓ (๒๔ ปี)

ป้ายเสาพระหลักเมืองน่าน

สำหรับวัดมิ่งเมืองนี้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด  แต่มีหลักฐานการสร้างเสาหลักเมือง ซึ่งแต่เดิมมาเมืองน่านไม่มีคติการสร้างเสาหลักเมือง  เพิ่งเริ่มมีมาในสมัยของเจ้าอัตถวรปัญโญ  พระองค์ ได้ให้ทำการสร้างเสาหลักเมืองน่าน หรือ "เสามิ่งเมือง” ในปี พ.ศ. ๒๓๓๓ เป็น ไม้สักทองขนาดใหญ่ สร้างในพื้นที่ที่เป็นวัดมิ่งเมือง ในปัจจุบัน  มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖๐ เซนติเมตร  สูง ประมาณ ๓ เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลมส่วนหัวเสาเกลาเป็น ดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นที่ดินโดยตรง ไม่มีอาคารหรือศาลครอบ  จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๖  เมืองน่านได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แม่น้ำน่านไหลเข้าท่วมถึงเสามิ่งเมือง ตัวเสาอายุร้อยกว่าปี ที่เริ่มผุกร่อนจึงโค่นล้มลง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔  ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านในสมัยนั้น ได้นำข้าราชการ และประชาชนชาวน่าน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองน่านขึ้นใหม่ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๖  ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน

ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ศาลหลักเมืองน่านทรุดโทรมลง ทางเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง พระครูสิริธรรมภาณี เจ้าคณะอำเภอเมืองน่าน โดยความเห็นชอบของคณะสงฆ์จังหวัดน่าน และทางราชการ ได้ทำการรื้อถอนศาลหลักเมืองน่านเดิมลง  ทางราชการและภาคประชาชนชาวน่าน ได้ร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙  และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ในปี  พ.ศ. ๒๕๕๐  โดยมีนายเสาร์แก้ว เลาดี เป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองน่านจนแล้วเสร็จ

ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกยอดเศียรท้าวมหาพรหมยอดศาลหลักเมืองน่าน และเป็นองค์ประธานประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน   ปัจจุบัน เสาหลักเมืองน่านมีลักษณะฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์  ๔ หน้า คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา   ซึ่ง ทิศเหนือ  มีพระเมตตา ท่านท้าวเวสสุวรรณ เป็นผู้รักษา ผู้ใดสักการะ ณ ทิศ นี้ จะมีอำนาจ มีบารมี มีความมั่นคง มีความกล้าแข็ง เข้มแข็ง  เป็นที่เคารพ เกรงขาม,  ทิศตะวันออก มี พระกรุณา ท่านท้าวธะตะรัฎฐะ เป็นผู้รักษา ผู้ใดสักการะ ณ ทิศนี้ มีเสน่ห์ เมตตามหานิยม เป็นที่รัก เป็นที่ปราถนาและชื่นชอบของคนและเทวดา, ทิศใต้ พระมุทิตา  ท่านท้าววิรุฬหะกะ เป็นผู้รักษา ผู้ใดสักการะ ณ ทิศแห่งนี้ มีความมั่งคั่ง ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ และบริวาร, ทิศตะวันตก พระอุเบกขา ท่านท้าววิรูปักษ์ เป็นผู้รักษา  ผู้ใดสักการะ ณ ทิศแห่งนี้ จักเป็นผู้ มีความสงบ ร่มเย็นเป็นสุข มีสันติภาพ ภราดรภาพ เป็นที่เคารพ นับถือ เชื่อถือ


เสาหลักเมืองใน ศาลาจตุรมุข

หากท่านใด เมื่อมาถึงจังหวัดน่าน และได้มีโอกาสไปสักการะ  เสาหลักเมืองนี้ ถือได้ว่าเป็นสิริมงคลสำหรับตนเองและครอบครัว เพราะเสาหลักเมืองถือเป็น “หัวใจเมือง” เป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งเมือง

พระพุทธรัตนวรตรัยวลัชญ์กรศรีนครน่านมหามุนี

ก่อนถึงศาลาจตุรมุข (เสาหลักเมือง) มีพระพุทธรูป ๒ องค์ตั้งอยู่ไม่ห่างมากนัก คือ พระพุทธรัตนวรตรัยวลัชญ์กรศรีนครน่านมหามุนี หรือ หลวงพ่อห้ามมาร และพระนาคปรก  สำหรับด้านหลังศาลาจตุรมุขนั้น เป็นพระอุโบสถสีขาว ลวดลายปูนปั้นรอบผนังด้านนอกเป็นประติมากรรมเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ ความเชื่อของตัวละครในวรรณคดีต่างๆ เช่น ยักษ์ คนธรรพ์ ราหู หงส์ ฯลฯ รวมถึงลวดลายพื้นหลังที่ไม่ซ้ำกันรอบอาคารโบสถ์และศาลหลักเมือง  และยังมีภาพประติมากรรมภาพนูนต่ำบริเวณผนังกั้นชานระเบียงที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมืองน่านแต่โบราณ ซึ่งสร้างโดยฝีมือสล่าเสาร์แก้ว เลาดี (สกุลช่างเชียงแสนโบราณ)


พระอุโบสถ วัดมิ่งเมือง
ด้านข้างพระอุโบสถ มีศาลาหลวงพ่อทันใจ เป็นศิลปะปูนปั้นในรูปแบบที่สอคคล้องกับตัวโบสถ์  เมื่อเดินเข้ามาภายใน ก่อนเข้าไปข้างในโบสถ์ มีความวิจิตรงดงาม และสื่อถึงความอ่อนช้อยของลวดลายต่างๆ  ที่ตัวเสา และประตูทางเข้า

ประตูทางเข้า โบสถ์
เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ  เหมือนกำลังจะมีการเตรียมงานพิธีอยู่  รอบผนังด้านในของตัวโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนัง ที่สื่อถึงประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน และวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนชาวเมืองน่าน  พระประธานในอุโบสถเป็นองค์เดิมที่มีมาพร้อมกับการสร้าง วัดมิ่งเมือง ในปีพ.ศ. ๒๔๐๐


พระประธาน ในดบสถ์ วัดมิ่งเมือง น่าน

จิตรกรรมฝาผนัง ที่สื่อถึงประวัติเมืองน่าน และวิถีความเป็นอยู่

รายละเอียดลวดลายของด้านนอกรอบโบสถ์
ศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นที่วัดมิ่งเมือง แห่งนี้ ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ยังคงต้องมีการเก็บรายละเอียดในอีกหลายๆ จุด  ซึ่งสำหรับผม ถือว่า วัดแห่งนี้ จัดเป็น unseen อีกแห่งของเมืองน่านได้เลย  ภายในวัด รับรู้ได้ถึงความร่มเย็น และสงบ ถึงแม้ผู้คนจะดูเยอะสักหน่อย บรรยากาศโดยรวมของเมืองน่าน หลังจากสัมผัสมาได้ ๔ วัด แล้วรู้สึกได้ ว่า เป็นเมืองที่น่าอยู่ ตามที่หลายๆ คนบอกกล่าว จริงๆ ครับ   หาก ท่านมี โอกาส ก็น่าจะมา แวะ น่าน สัก คืน นะครับ   ใกล้จะค่ำแล้ว  คงต้องรีบหาที่พัก ก่อน ครับ  และแล้วก็ได้ ที่พัก คือ โรงแรมสบายน่าน ครับ

พิกัด GPS วัดมิ่งเมือง :  18.774641, 100.769115

แผนที่ วัดมิ่งเมือง





ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

เที่ยวไหนดี? ... น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด ๔ วัดศรีพันต้น

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน อ.เมือง ไหว้พระ ๙ วัด   ๔ วัดศรีพันต้น  😀 

หลังจากที่ออกจาก วัดพญาวัด  ก็เดินทางมาที่วัดศรีพันต้น ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง ๘๕๐ เมตร สำหรับเส้นทางการเดินรถ คือ เลี้ยวขวาออกจากวัดพญาวัด ๒๐๐ เมตร จะเจอถนนยันตรกิจโกศล (ทางหลวงหมายเลข ๑๐๑) เลี้ยวซ้ายและขับไปตามเส้นทาง ๖๐๐ เมตร พบสี่แยกเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุริยพงษ์ ไป  ๒๐ เมตร เลี้ยวขวา เข้าสู่วัด หรือจากแยกนี้ สามารถขับตรงไป อีก ๒๕ เมตรก็สามารถเลี้ยวซ้ายเข้าวัดได้เช่นกัน (มี ๒ ประตู) วัดศรีพันต้น ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน 

วัดศรีพันต้น

จอดรถบริเวณลานจอดรถ มีรถบริการท่องเที่ยว ซึ่งทาง จังหวัดน่าน จะมีรถบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์ที่จะทำบุญ ๙ วัด สามารถใช้บริการได้  สำหรับวันนี้ ที่เห็นเป็นรถนกแอร์ บริการ  พระอุโบสถเป็นสีทอง ด้านหน้ามีประดับกระจกสี  หน้าบรรณของโบสถ์ เป็นสัญลักษณ์ ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี กาญจนาภิเษก รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่๙) ใต้สัญลักษณ์ มีพระราหูยกมือ รับ ธรรมจักร  มีท้าวจตุมหาราชท้ง ๔, พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, พระพรหมขี่หงส์  สำหรับ ประตูทางเข้าโบสถ์ เป็นสีทองล้วน  หน้าโบสถ์ มีพระยานาค สร้างโดยช่างชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ "สล่ารง" 

โบสถ์ วัดศรีพันต้น
พระยานาค ที่เฝ้าบันไดหน้าวัด
ในราวปี พ.ศ. ๑๙๖๐ - ๑๙๖๙  พญาพันต้น แห่งราชวงศ์ภูคา เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน ในสมัยนั้น เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ซึ่งใช้ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป บางยุคสมัย เรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนน  วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕
วัดศรีพันต้น ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๕  ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตเทศบาลเมืองน่าน 

เมื่อเข้าไปในโบสถ์ หลังคาสูงโปร่ง ทำให้อากาศภายในโบสถ์ร่มเย็น จิตรกรรมฝาผนังโดยรอบของโบสถ์เป็นภาพลายเส้น สื่อถึงพุทธประวัติ และประวัติการสร้างเมืองน่าน รวมถึงวิถีชีวิของชาวน่าน  โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพเขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและมีคุณค่ายิ่ง

พระประธานในโบสถ์

จิตรกรรมฝาผนัง ด้านข้างโบสถ์
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ด้านบนก่อนออกจากโบสถ์

เมื่อออกจากโบสถ์ ทางด้านซ้ายมีศาลาเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ภายในมีพระสังกายจน์องค์ใหญ่ อยู่ด้านหลัง ขององค์พระ มีศิลาจารึก ซึ่ง ผู้้โปรดให้สร้างศิลาจารึกหลักนี้คือ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๔ (องค์สุดท้าย) นามว่า เจ้ามหาพรหม สุรธาดาฯ  ปกครองเมืองระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๗๔  ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙เป็นโอรสของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๒ กับแม่เจ้าขอดแก้ว ทรงมีพระภคินีร่วมพระมารดาเพียงองค์เดียวคือแม่เจ้ายอดมโนรา (เจ้านางเบาะ)

พระองค์ทรงมีชายา ๓ คน คนแรกคือแม่เจ้าศรีโสภา อัครชายา มีโอรสธิดา ๔ คน ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏพระนามในจารึก คือ
-โอรสที่ ๑ เจ้าสุริยวงศ์ (เจ้าน้อยยานนท์)
-ธิดาที่ ๒ เจ้านางบัวเขียว สมรสกับเจ้าราชวงศ์ (สิทธิสาร)
-โอรสที่ ๓ เจ้าบุรีรัตน์ (ขัติยศ)
-โอรสที่ ๔ เจ้าราชบุตร (หมอกฟ้า)

เมื่อแม่เจ้าศรีโสภาถึงแก่อสัญกรรมไปในปี พ.ศ.๒๔๖๗ อีกสองปีต่อมาจึงทรงมีบาทบริจาริกาอีกสองคนในขณะที่พระองค์มีชนมายุได้ ๘๐ ปี คือ

๑. เจ้านางบัวทิพย์ และทรงมีโอรส ๓ คน คือ  เจ้าหนานธาดา ณ น่าน, เจ้าขี้หมู (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก), เจ้าหนานสุรพงษ์ ณ น่าน

๒. เจ้านางสีคำ  ทรงมีโอรสธิดา ๒ คน คือ เจ้านิด (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก), เจ้าลัดดา อรุณสิทธิ์ (ณ น่าน) ปัจจุบันใช้ชีวิตกับครอบครัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ ผู้ครองนครน่าน ท่านนี้ ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๔๗๔  สิริชนมายุได้ ๘๕ ปี และหลังจากนั้น ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้ถูกยกเลิกไป


ในแผ่นจารึกตอนต้นมีภาพม้าปรากฏ น่าจะหมายถึง ปีนักษัตรปีมะเมีย อันเป็นปีที่เจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ ประสูติ คือ ปี จ.ศ.๑๒๐๘ (พ.ศ.๒๓๘๙) ตรงกับปีมะเมีย อัฐศก

นายช่างที่มีปรากฏชื่อ  น้อยเมือง หรือ เมืองไชย   น่าจะเป็นคนเดียวกับ นายเมือง ผู้เป็นช่างปั้นพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ภายในวิหารที่ พระธาตุพลูแช่ อ.นาน้อย จ.น่าน ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก พระธาตุพลูแช่ ๑ จ.ศ.๑๒๙๒ (พ.ศ.๒๔๗๓) ซึ่งกล่าวว่านายเมืองเป็นคนบ้านอภัย ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน

สภาพโดยรวมของวัตถุจารึกที่มีปรากฎในศิลาจารึกยังมีความสมบูรณ์ แต่ตัวอักษรที่จารึกในส่วนต้นที่มีภาพม้าและตอนท้ายของแต่ละบรรทัด  ร่องอักษรค่อนข้างตื้น


ศาลาที่มีองค์สังกัจจายน์

องค์พระสังกัจจายน์ ด้านหลังองค์พระมีศิลาจารึก
สำหรับวัดศรีพันต้นเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่ครูชันทะ  (อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีวิชารักษาคนป่วยด้วยการเป่าคาถาเสกน้ำมนต์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษาได้ผลดีมากโดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนอง    ตลอดชีวิตของหลวงปู่ครูชันทะ ท่านได้เมตตาไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่าน เป็นประจำทุกวัน จนถึงแก่มรณะภาพ

หลวงปู่ครูชันทะ (อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น)  เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิชารักษาคนป่วย ทางด้านการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษา  โดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนอง ซึ่งท่านได้ไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่าน เป็นประจำทุกวัน ท่านเป็นพระสงฆ์ ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ

พิกัด GPS วัดศรีพันต้น  :  18.775992, 100.765733

แผนที่  วัดศรีพันต้น




สำหรับวัดลำดับถัดไปที่จะเดินทางไปต่อ คือ วัดมิ่งเมือง จ.น่าน ครับ


ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ