เที่ยวไหนดี? ... น่าน ภูเพียง ๙ วัดพระธาตุแช่แห้ง

เที่ยวไหนดี? ...  น่าน ภูเพียง ๙ วัดพระธาตุแช่แห้ง 😀

หลังจากกลับมาจาก ดอยเสมอดาวและผาหัวสิงห์  และพักผ่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางจากที่พัก โรงแรมสบายน่าน  มาสักการะไหว้พระ ให้ครบ ๙ วัด ตามความตั้งใจแรกเริ่ม จึงเดินทางมายังที่อำเภอ เมืองน่าน ไหว้พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองน่าน ซึ่งอยู่ห่างเพียง ๓ กิโลเมตร สำหรับเส้นทางการเดินทางเมื่อออกจากโรงแรมเลี้ยวขวา ไป ๕๕๐ เมตร พบสามแยกเลี้ยวขวาอีกครั้ง ขับไปตามเส้นทาง ๑.๑ กิโลเมตร พบสามแยกเลี้ยวซ้ายไป ๓๕๐ เมตร  เลี้ยวขวา ขับตามเส้นทางไป ๖๓๐ เมตร เลี้ยวขวายอีกครั้ง  จะพบวัดอยุ่ทางด้านหน้า เข้าที่จอดรถทางด้านขวามือ  เส้นทางนี้จะเข้าทางด้านข้างวัด

บันไดนาค ๒ ตน
ทางด้านหน้าวัด มีบันไดนาค เป็นบันไดทางยาวขึ้นสู่องค์พระธาตุแช่แห้ง อยู่ห่างจากองค์พระธาตุไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๐๐ เมตร  บันไดนี้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๓๔๙  โดยเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองน่าน (พ.ศ.๒๓๒๙-๒๓๕๓)  ขนาดลำตัวนาค ยาว ๖๙ วา สูงจากพื้นดิน ๔ ศอก ส่วนหัวแผ่พังพานสูงจากพื้นดิน ๑๐ ศอก  ภายหลัง ๙๙ ปี ในสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช  ได้ทำการสร้างขึ้นใหม่ โดยลดขนาดของนาคลงเหลือเพียงขนาดลำตัว ๒๐ กำ ยาว ๕๐ วา (ขนาดใกล้เคียงกับปัจจุบัน) ยอหัวสูง ๓ วา ๓ ศอก พร้อมทั้งได้สร้างทางขึ้นพระธาตุ ระหว่างนาค สำหรับนาคทั้งสองตน มีนามว่า ท้าวศรีสุทโธ และ แม่ศรีปทุมมา  ซึ่งมีความเชื่อว่า พญานาคทั้งสองตน เปรียบเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยปกปักรักษาพระธาตุแช่แห้งไว้

วัดพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๓ บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน  เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ในอดีตกาล ครั้นสมัยที่อาณาจักรน่าน เป็นนครรัฐอิสระ  ปีพ.ศ. ๑๘๙๖ พญาครานเมือง เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งมีเมืองวรนคร เป็นราชธานี เจริญสัมพันธไมตรีอันดีกับอาณาจักรสุโขทัย ได้ ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบถวายพระธาตุ ๗ พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ ๒๐ องค์ เป็นการตอบแทน   ในปี พ.ศ. ๑๘๙๙  พญาครานเมืองอัญเชิญพระบรมสารีริธาตุ ไปบรรจุไว้ ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง ก่อเป็นพระเจดีย์ “พระธาตุแช่แห้ง” ถือว่าเป็นอนุสรณ์แสดงถือความสัมพันธ์อันดีระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัย  ต่อมา ในปี พ.ศ. ๑๙๐๘  พญาครานเมือง (พญากรานเมือง) ทรงย้ายราชธานีของนครน่าน จาก เมืองวรนคร หรือ เมืองปัว มาที่ เมืองภูเพียงแช่แห้ง (สถานที่พระองค์ทรงสร้างองค์พระธาตุ)  

กาลเวลาล่วงเลยมา ๑๒๐ กว่าปี สภาพพระธาตุทรุดโทรมลง และได้มีการขุดพบ ในสมัยท้าวขาก่าน (ปกครองน่านพ.ศ. ๒๐๑๙ - ๒๐๒๓) เป็นยุคสมัยที่นครน่านขึ้นกับอาณาจักรล้านนา  เมื่อ ท้าวขาก่าน
ขุดพบพระธาตุ จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าติโลกราช (ราชวงศ์มังราย กษัตริย์ล้านนา)   พระเจ้าติโลกราชมีรับสั่งให้นำพระธาตุไปประดิษฐานยังที่เดิม    ท้าวขาก่านจึงได้สร้างเจดีย์พระธาตุแช่แห้งครอบพระธาตุไว้อีกครั้ง ต่อมา มีการบูรณะพระธาตุแช่แห้งเรื่อยมา จนไม่สามารถสันนิษฐานถึงรูปแบบดั้งเดิมได้

องค์พระธาตุแช่แห้ง
ปัจจุบันองค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุศิลปะแบบล้านนา ที่มีขนาดสูงถึง ๕๕.๕  เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีความยาวด้านละ ๒๒.๕ เมตร  มีสีเหลืองทองอร่าม มาจากการบุด้วยแผ่นทองเหลืองที่องค์เจดีย์   ตัวองค์เจดีย์มีลักษณะรูปทรง ระฆังคว่ำ  ฐานที่องค์พระเจดีย์ทำเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ รองรับฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้า กระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น   องค์ระฆังมีขนาดเล็กบัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ย่อเก็จ ฐานหน้ากระดานกลมเป็นกระดานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม และชั้นบัวคว่ำเหนือฐานแปดเหลี่ยม ตกแต่งคล้ายกลีบบัว หรือลายใบไม้แทนลายดังกล่าวนี้คงได้้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ซึ่งมีการต่อเติมขึ้นภายหลัง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔  มีกำแพงแก้วล้อมอยู่ชั้นใน และระเบียงคดล้อมโดยรอบ องค์พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิด ของคนที่เกิดปีเถาะ (ปีนักษัตรกระต่าย)


ด้านข้างองค์พระธาตุแช่แห้ง
พระวิหารหลวง หรือ พระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง อยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์องค์พระธาตุ (ตรงเชิงบันได
)  สร้างในปี พ.ศ. ๒๑๒๘  ในรัชสมัยพญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม  ครองเมืองน่าน  พระวิหารหลวงนี้ ได้รับการบูรณะปฎิสังขรเรื่อยมาในหลายยุค หลายสมัย แต่ยังคงความเป็นศิลปกรรมดั้งเดิมไว้  ด้านหน้าทางเข้าพระวิหารมีสิงห์ ๒ ตัว นั่งชันขาอ เฝ้าอยู่หน้าประตู ด้านฝั่งซ้าย มีชื่อว่า  ​สิงห์สรวล ​ ฝั่งขวาเรียกชื่อว่า ​สิงห์คายนาง เป็นปฏิมากรรมปั้นปูนแบบพม่าที่สวยงาม

พระวิหารหลวง
บริเวณซุ้มเหนือประตูทางเข้า มีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปพญานาคราช ๘ ตัว รัดกันเป็นบ่วงอยู่เรียกว่า ​อัฏฐพญานาค ซึ่งเป็นปริศนาธรรมแห่งวัดพระธาตุแช่แห้ง

พระเจ้าล้านทอง
เมื่อเดินเข้ามาภายในพระวิหาร  จะเห็นเสาคู่ด้านหน้าตรงทางเข้ามีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์คล้ายกับ ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน  ซึ่งเป็นลายปูนปั้นของสกุลช่างเมืองน่าน 
องค์พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารศรีวิชัยศิลปะล้านนาที่สวยงาม นามว่า "พระเจ้าล้านทอง"เป็นหนึ่งใน พระคู่บ้าน คู่เมืองน่าน  ประดิษฐานบนฐานชุกชี ทำด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง สูง ๘ ศอก  สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๕  โดย พญาคำยอดฟ้า ช่วงการปกครองครั้งที่ ๒    และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย, พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา, “พระเจ้าก๋าคิง” (ความหมาย คือ พระพุทธรูปที่มีขนาดเท่ากับผู้สร้าง)  ซึ่งคือเจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ. ๒๓๓๓, พระพุทธรูปปางประทับยืน, พระอุ่นเมือง อันเป็นศิลปะสกุลช่างน่าน   และ  บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ  ลักษณะบุษบกเป็นรูปทรงหลายเหลี่ยมทั้งหลัง เขียนลวดลายรดน้ำ ประดับกระจก มีลายดอกไม้ในรูปแบบต่าง ๆ ของลายไทย หลังคาทำเป็นชั้นซ้อนกันขึ้นไป ๕ ชั้น ประดับด้วยกระจังโลหะสีทอง  ทำให้ดูคล้ายกับ ดอกบัวที่ซ้อนกันขึ้นไป ปลายปลียอดประดับด้วยฉัตรทองปรุ ๕ ชั้น บันไดนาคทำเป็นนาคทอดลำตัวประดับกระจกสี

พระเจ้ามหาอุตม์  ด้านหลังลายหม้อดอกปรณะฆฎะ
เดินออกมาจากพระวิหารหลวง  ก็พบพระอุโบสถมหาอุตม์ ซึ่งภายในมี พระเจ้ามหาอุตม์ หรือ หลวงพ่อมหาอุตม์ ประดิษฐานอยู่   ภายในพระอุโบสถมหาอุดม์ ประดับด้วยลายหม้อดอกปูรณะฆฏะ  พระเจ้ามหาอุตม์ สร้างขึ้นในสมัยพระญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม เจ้านครน่าน เริ่มยุคสมัยของนครน่าน ขึ้นกับอาณาจักรตองอู  เป็นผู้ที่บุเรงนองแต่งตั้งใ้ห้เป็นผู้ปกครอง (ปกครองพ.ศ. ๒๑๐๓- ๒๑๓๔)  สร้างในปี พ.ศ. ๒๑๐๓   ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะน่าน  

นับแต่โบราณ ใช้ในกรณี ทำพิธีมหาพุทธาภิเษกและเจริญพระพุทธมนต์  พิธีมงคลที่สำคัญเท่านั้น  เชื่อกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทรัพย์สินโชคลาภเพิ่มพูนอำนาจวาสนาบารมีและยังช่วยปกปักรักษาคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวงได้ 

ลายหม้อดอกปูรณะฆฏะ  ปูรณะฆฏะ หมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์ อันสื่อถึง ความอุดมสมบูรณ์พูนผล, ความเจริญรุ่งเรืองงอกงาม ไพบูลย์ด้วยธนสารสมบัติ นานัปการ  ซึ่ง หม้อน้ำในยุคสมัยนั้น อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งในสิ่งที่เป็นมงคล ๑๐๘  ประการ ทำให้มีการใช้หม้อน้ำประดับดอกไม้ บูชาพระพุทธรูปในพระอุโบสถ     ดังที่เรียกว่า "ปูรณะฆฏะ"  นั้น  จึงมีความหมายว่าการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยความเจริญรุ่งเรืองเพื่อไปสู่นิพพานนั่นเอง

ทางด้านหน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง

ภายในวัดยังมีอีก หลายสถานที่ ที่ควรเข้าชม และสักการะ เช่น   พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง  (พระธาตุตะโก้ง หรือ พระธาตุแช่แห้งน้อย) สร้างสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ โปรดให้สล่าน้อยยอด คนเมืองลำพูน มาก่อ สร้างจำลองรูปแบบมาจากพระธาตุตะโก้งหรือ พระธาตุชเวดากองในประเทศ พม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑  ถือว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย (ปีนักษัตรม้า)   องค์เจดีย์เป็นศิลปะแบบพม่า อยู่ภายในเขตกำแพงแก้วเตี้ย มีลานประทักษิณล้อมรอบฐานเจดีย์แบบชุดฐานบัว (ปัทม์) ประกอบลูกแก้วแทรกที่ชั้นหน้ากระดานท้องไม้ ฐานย่อแบบย่อเก็จ (ลักษณะของการหยักมุมจะมีขนาดของความกว้างและความลึกไม่เท่ากัน) ซึ่งเป็นลักษณะของการลดขนาดความใหญ่ของฐานเจดีย์ตามแบบศิลปะพม่า


วิหารพระเจ้าทันใจ ภายในมีพระพุทธรูป ๓ องค์ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ๒ องค์ และพระเจ้าทันใจ (ปางมารวิชัย) สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญาครานเมือง ปีพ.ศ.๑๘๙๖  สร้างขึ้นพร้อมกับองค์พระธาตุแช่แห้ง  สำหรับ ตัววิหารพระเจ้าทันใจ ไม่ปรากฎหลักฐานการสร้าง มีเพียงบันทึกในพงศาวดารเกี่ยวกับการบูรณะ ในช่วงสมัยพระญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม  มีการบูรณะในปี พ.ศ. ๒๑๐๓  และในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ  พ.ศ. ๒๓๓๖  และในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พ.ศ. ๒๔๔๘  


วิหารพระพุทธไสยาสน์ (วิหารพระนอน)   ตั้งอยู่นอกระเบียงคด ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุแช่แห้ง เป็นวิหารเดี่ยวขนาดเล็ก สร้างด้วยรูปแบบแบบง่าย ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศใต้ซึ่งเป็นผนังแป โดยประตูวิหารเป็นประตูขนาดเล็ก จำนวน ๓ ประตู ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่ง เกี่ยวกับพระพุทธไสยาสน์นั้น มีจารึกไว้ว่าผู้สร้าง คือ นางแสนพลัว และสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๑๒๙  สำหรับองค์พระพุทธไสยยาสน์  ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ยาว ๑๔ เมตร สูง ๒ เมตร พร้อมด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยก่ออิฐถือปูน สร้างในสมัยพระญาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ปีพ.ศ.๒๑๒๙  โดย นางแสนพาลา วิหารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ตรงมุมกำแพงแก้วด้านทางเข้ามีเจดีย์ทรงระฆังกลม นามว่า “ พระเกศแก้วจุฬามณี” เป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีจอ สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ 


น้ำบ่อแก้ว (บ่อน้ำทิพย์)  เป็นบ่อที่ขุดในปี พ.ศ. ๒๓๗๓   เจ้าเมืองน่าน ได้ขุดบริเวณลอมเชียงของ พบว่ามีพลอยมีสีน้ำผึ้ง จึงขุดลึกลง ๔ เมตร มีน้ำพุขึ้นในบ่อ น้ำก็ขึ้นมาเต็มปากบ่อ ประชาชนเชื่อถือว่าน้ำในบ่อนี้ เป็นน้ำวิเศษ จะใช้ประกอบพิธี น้ำอภิเษก

ลานพระประจำวันเกิด (รูปวันพุธ และ วันเสาร์)

พระวิหารพระเจ้าอุ่นเมือง, ศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่าน, ลานพระประจำวันเกิด  และกลองปู่จา กลองโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากไทลื้อ เป็นกลองใหญ่หน้ากลองทำจากหนังวัว และกลองเล็ก (ลูกตูบ) ๓ ใบ  จะตีในโอกาสดังต่อไปนี้ 
๑.ก่อนวันพระ ๑ วัน ตีเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้ทราบว่า พรุ่งนี้เป็นวัดพระ ตีในเวลาพลบค่ำ
๒.ตีเมื่อพระเทศนาจบ ทำนองสุดธรรม
๓.ตีเมื่อมีเหตุแจ้งเกี่ยวกับภัยร้าย จังหวะการตีจะเร็ว
๔.ตีในเทศกาลประเพณีสำคัญ วัดพระธาตุแช่แห้ง ตีในเทศกาลประเพณีหกเป็งนมัสการพระธาตุแช่แห้ง

สำหรับ งานประจำปี ของวัดพระธาตุแช่แห้ง จะมีการจัดงานฉลองพระธาตุประจำปี ราวกลางเดือนหกฝ่ายเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนสี่ฝ่ายใต้, ประเพณี ตานก๋วยสลาก หรือ กิ๋นสลาก จะเริ่มในราวเดือน ๑๒ เหนือ (คือเดือน ๑๐ ใต้ เดือนกันยายน) และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน ๑๑ ใต้) เป็นประเพณีถวายอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า, พิธีสวดมนต์ข้ามปี ช่วงระหว่างการสิ้นสุดของวันที่ ๓๑ ธันวาคม กับ วันที่ ๑ มกราคมของปีถัดไป และ พิธีสืบชาตาหลวงจะมีการจัดขึ้นในวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี

ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป ยังนิยมมาจัดพิธีสืบชาตาของบุคคล  ซึ่ง ชาวล้านนาเชื่อกันว่าเป็นประเพณีการต่ออายุหรือต่อชีวิตของบ้านเมืองหรือของคนให้ยืนยาว มีความสุข ความเจริญ ตลอดจนเป็นการขจัดภัยอันตรายต่างๆที่จะบังเกิดขึ้นให้แคล้วคลาดปลอดภัย และให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

พิกัด GPS วัดพระธาตุแช่แห้ง :  18.758293, 100.791721

แผนที่ วัดพระธาตุแช่แห้ง



เมื่อสักการะเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางไปยังวัดลำดับถัดไป  คือ วัดสวนตาล จ.น่าน ครับ


ขอบคุณ  ครับ  😄


สำหรับท่านที่ สนใจจะจองที่พักในจังหวัดน่าน  สามารถกดดูรายละเอียดที่  ลิงค์นี้  หรือ  ลิงค์นี้  ก็ได้ ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น