เที่ยวไหนดี? ...ราชบุรี ดำเนินสะดวก ขุนพิทักษ์ วัดพิทักษ์เทพาวาส

 เที่ยวไหนดี? ...ราชบุรี ดำเนินสะดวก ขุนพิทักษ์ วัดพิทักษ์เทพาวาส  😄

เดินทางออกจาก บ้านสายน้ำ รีสอร์ท ตรงออกมา ประมาณ ๑๐๐ เมตร เลี้ยวขวา ขับตามเส้นทางอีก ๘๐๐ เมตร จะพบวัดพิทักษ์เทพาวาส   สำหรับ วัดพิทักษ์เทพาวาส เดิมชื่อ "วัดตั้วฮ้ำ"  ตั้งอยู่เลขที่ ๙๑ หมู่ ๔ ตำบลขุนพิทักษ์ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่วัดติดคลองขุนพิทักษ์  วัดแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งมี พระมหาเทพ ชินวโร เป็นประธานการสร้าง

ประตูหน้าวัด (อยู่หัวโค้ง)

พื้นที่ภายในวัดพิทักษ์เทพาวาส


และมีฝ่ายฆราวาส คือ นายผึ้ง แสงทอง, นายชวน วิสุวรรณ และนายปุ่ย วีระจินดา ได้ชักชวนชาวบ้านต่างๆ ที่มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคทรัพย์ซื้อที่ดินสร้างวัดในตำบลขุนพิทักษ์ และมีผู้บริจาคบ้านทรงไทย ๓ หลัง ๆ ละ ๓ ห้อง เพื่อสร้างเป็นกุฏิให้พระสงฆ์ และสามเณรได้จำพรรษา


วิหาร และหอระฆัง
ต่อมาเจ้าคณะอำเภอดำเนินสะดวก ได้ส่งพระครูพิทักษ์เทพสิทธิ์ มาปกครองดูแลคณะสงฆ์ และดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุ จนได้รับการประกาศให้ตั้งเป็นวัดพิทักษ์เทพาวาส เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ ปัจจุบันมีพระครูสุธรรมรักษ์เป็นเจ้าอาวาส ปกครองดูแลคณะสงฆ์ และพัฒนาและและบูรณะวัดจนถึงปัจจุบัน

โบสถ์ วัดพิทักษ์เทพาวาส

มาถึงในช่วงเวลาสายๆ  โชคดีที่ ประตูโบสถ์เปิด ให้ผู้ที่มี จิตศรัทธา เข้ามากราบสักการะ 

ด้านหน้า โบสถ์  วัดพิทักษ์เทพาวาส

ศิลปะ บนประตูทางเข้าโบสถ์


วัดพิทักษ์เทพวาส มี หลวงพ่ออู่ทองเป็นพระประธานในโบสถ์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านในละแวกนี้  ทางวัดมีการจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน, งานประจำปี ปิดทองหลวงพ่ออู่ทอง, การสวดภาณยักษ์ และ การปฎิบัติธรรมบวชเนกขัมมจาริณี

หลวงพ่ออู่ทอง

สำหรับการสวดภาณยักษ์ เป็นพิธีกรรมที่มีความเชื่อกันว่า เป็นพิธีที่สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และปกป้องคุ้มครองผู้สวดและผู้ฟังให้มีความเป็นอยู่สุขสวัสดี  เนื้อหาที่นำมาสวดนั้นมาจากอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งเป็นตำนาน ว่า ขณะที่ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ หมายถึง เทพผู้เป็นโลกบาล ๔ ทิศ เข้าเผ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (สมเด็จพระพุทธโคดม)  ท้าวเวสวัณมหาราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้ามีความว่า
ยังคงมียักษ์บางจำพวก ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัย, ไม่ประพฤติในศีล ซึ่งหากยักษ์ที่ประพฤติธรรมอยู่ร่วมกับยักษ์เหล่านั้น อาจจะมีภยันตราย จึงขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรับฟัง รักขา เครื่องรักษา หรือ ปริตร เครื่องป้องกันอันชื่อว่า อาฏานาฏิย เพื่อความเลื่อมใสของบรรดายักษ์ที่ประพฤติธรรม รักษาศีล เพื่อคุ้มครองรักษา เพื่อความไม่ถูกเบียดเบียน และ เพื่อความอยู่ผาสุกของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย

หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรับโดยอาการดุษณีภาพ (คือ นิ่ง)

ท้าวเวสวัณมหาราช ครั้นทราบการรับของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงได้กล่าว อาฏานาฏิยรักขา หรือ อาฏานาฎิยปริตรนี้ ในเวลานั้น  ซึ่งเนื้อความ กล่าวสรรเสริญถึงพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ คือ

๑. พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีจักษุ ผู้มีสิริ
๒. พระสิขีพุทธเจ้า ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
๓. พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้มีกิเลสอันล้างแล้ว ผู้มีตบะ
๔. พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ย่ำยีเสียซึ่งมารและเสนา
๕. พระโกนาคมนพุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้ว ผู้มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว
๖. พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
๗. พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งศากยราชผู้มีสิริ

ท้าวเวสวัณมหาราช ได้มากราบทูลพระพุทธเจ้าแสดงข้อความทั้งหมด แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้พระองค์ได้ทรงรับเอาไว้เพื่อให้บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายทรงจำไปสาธยายในเวลาเข้าไปอยู่ในป่า และเมื่อสาธยายข้อความนี้ บรรดายักษ์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า ซึ่งไม่เลื่อมใสในปาพจน์ คือในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ฟังข้อความนี้ก็จะเลื่อมใส

ฉะนั้น การสาธยายข้อความนี้ จึงเป็นไปเพื่อความคุ้มครองรักษาป้องกันผู้สวดสาธยาย และผู้ฟัง จากบรรดายักษ์ทั้งทลาย

วันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงเล่าเรื่องที่มหาราชทั้ง ๔ ได้มาเฝ้าพร้อมทั้งบริวาร และท้าวเวสวัณมหาราชได้มากราบทูลข้อความนี้แก่พระองค์ และได้ทรงอนุญาตให้สาธยายพระสูตรนี้ได้

หลวงพ่ออู่ทอง พระประธานในโสถ์ วัดพิทักษ์เทพาวาส
ภาพทั่วไป ภายในโบสถ์ ในกรุงเทพ จะเป็นโบสถ์ ที่มีพระประธาน และมีการแบ่งพื้นที่ สำหรับสงฆ์ และ อุบาสก อุบาสิกา อย่างชัดเจน  โดยส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยมีการปิดทองที่องค์พระประธาน  แต่ที่วัดพิทักษ์เทพาวาส แห่งนี้ มีการทำ บันได และชั้นลอยไม้ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้มาสักการะ ปิดทององค์หลวงพ่ออู่ทอง แบบใกล้ชิด

จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ โดยรอบจะเขียนในเรื่อง ทศชาติชาดก ของพระสมณโคดม ก่อนที่มาเป็นชาติสุดท้าย ที่ตรัสรู้ เป็น พระพุทธโคดม

สำหรับ ทศชาติชาดก เป็นการบำเพ็ญเพียร สั่งสมบุญบารมี ๑๐ ชาติ ซึ่งแต่ละชาติ จะบำเพ็ญเพียรบุญ ที่แตกต่างกัน ดังนี้
ชาติที่ ๑. เตมีย์ชาดก : บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
ชาติที่ ๒. ชนกชาดก : บำเพ็ญวิริยบารมี
ชาติที่ ๓. สุวรรณสามชาดก : บำเพ็ญเมตตาบารมี
ชาติที่ ๔. เนมิราชชาดก : บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
ชาติที่ ๕. มโหสถชาดก : บำเพ็ญปัญญาบารมี
ชาติที่ ๖. ภูริทัตชาดก : บำเพ็ญศีลบารมี
ชาติที่ ๗. จันทชาดก : บำเพ็ญขันติบารมี
ชาติที่ ๘. นารทชาดก : บำเพ็ญอุเบกขาบารมี
ชาติที่ ๙. วิธุรชาดก : บำเพ็ญสัจจบารมี
ชาติที่ ๑๐.  เวสสันดรชาดก : บำเพ็ญทานบารมี

ส่วนจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังองค์พระประธาน จะเขียนแสดงถึงช่วงที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

หน้าต่างโบสถ์
เมื่อออกมาจากโบสถ์ เดินรอบๆ บริเวณวัด  พบว่า ด้านหน้าวัด มี พระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ หันพระพักตร์ ไปที่คลองขุนพิทักษ์ 


พระปูนปั้น ด้านหน้าขององค์พระ เป็นคลองขุนพิทักษ์

สำหรับการปฎิบัติธรรมบวชเนกขัมมจาริณี หรือเนกขัมมนารี หมายถึง การบวชของสตรีที่นุ่งขาวห่มขาว ไม่โกนคิ้ว    ไม่โกนผม สมนาทานและรักษาศีล ๘ ซึ่งต่างกับการบวชชี คือ จะเป็นการบวชของสตรีที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้ว โกนผม สมนาทานและรักษาศีล ๘


หลังจาก อิ่มอกอิ่มใจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ก็ถึงเวลาเดินทางต่อ 

พิกัด GPS :  13.510819, 99.981955

แผนที่  




กรณีเดินทางจากกรุงเทพ
สำหรับท่านที่ใช้เส้นทางผ่านสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม (๖๙ กิโลเมตร)
๑.  สำหรับผู้ที่ขึ้นทางพิเศษเฉลิมมหานคร ลงที่ปลายทาง พระราม๒, สมุทรสาคร  หรือหากผู้ที่อยู่บริเวณ นั้น ก็สามารถเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๕ (ถนนพระราม๒)  มุ่งหน้าไป ราชบุรี/นครปฐม (ระยะทาง จากจุดเริ่มต้น ๔๔ กิโลเมตร)
๒. หลังจากผ่านสะพานข้ามคลองสุนัขหอน ให้เลี้ยวซ้าย เพื่อไปลอดใต้สะพาน และเมื่อออกจากสะพาน ก็เลี้ยวซ้าย เพื่อใช้เส้นทางย้อนกลับ (เหมือนกลับกรุงเทพฯ) หลังจากที่เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๓๕ หรือถนนพระรามที่ ๒ ให้ขับตรงไป ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ตรงสถานีไฟฟ้าย่อยแล้วเบี่ยงขวา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๐๖ 
๓. ตรงไป ๑.๓ กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย มุ่งไป ๑๐.๒ กิโลเมตร ขับตามเส้นทางจะเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข ๒๐๐๑  อีก ๑.๘ กิโลเมตร (รวมระยะทางเส้นตรงหลังจากเลี้ยวซ้าย ๑๒ กิโลเมตร) แล้วเลี้ยวขวา ที่สะพานข้ามคลองคันพนัง
๔. ตามเส้นทาง ๑.๒ กิโลเมตร, เลี้ยวซ้าย ๔.๘ กิโลเมตร, เลี้ยวซ้าย ๒.๑ กิโลเมตร จะพบ วัดพิทักษ์เทพาวาส 


ขอบคุณ ครับ   😄


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น